London, Queen Elizabeth II Centre : พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมระดับโลกด้านการศึกษา หรือ Education World Forum 2024 (EWF) ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุม Queen Elizabeth II Centre กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

EWF เป็นเวทีผู้นำด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกที่มาร่วมประชุมนำเสนอความก้าวหน้าด้านการศึกษา รวมทั้งร่วมกันอภิปรายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะผู้เรียนให้มีศักยภาพและความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งมีการจัดประชุมเป็นประจำทุกปี

โดยหัวข้อหลักของการประชุมปีนี้ คือ Encouraging AI understanding, Building human relationships and resilience, and accelerating Climate action. How should we prioritise policy and implementation for Stronger, Bolder, Better Education? เน้นบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และการสร้างความสมดุลระหว่างเทคโนโลยี ด้านดิจิทัลกับทักษะทางสังคม ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Green Skills) ซึ่งจำเป็นสำหรับการจ้างงานอุตสาหกรรมในอนาคต ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่สร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาเพื่อช่วยสร้างโลกให้น่าอยู่ขึ้น

การประชุมมีการนำเสนอและอภิปรายประเด็นสำคัญด้านการศึกษาอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนการสอน การปรับเปลี่ยนรูปแบบและพัฒนาทักษะครูและนักเรียนให้มีความพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และปัญหาท้าทายดังเช่นการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา การสร้างสมดุลระหว่างการศึกษาและประเด็นระดับโลก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทักษะทางสังคม และ green education ครอบคลุมการศึกษาทุกระดับตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างหลากหลายจากทั่วโลก ได้แก่ รัฐมนตรีด้านการศึกษา ผู้บริหารระดับสูงด้านการศึกษา นักวิชาการ และผู้บริหารจากองค์กรด้านการศึกษาระดับนานาชาติ รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำด้านการศึกษา ในการประชุมมีการนำเสนอแนวคิดและผลการขับเคลื่อนการศึกษาในห้องประชุมใหญ่และอภิปรายกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับตัวและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการศึกษา ซึ่งรวมถึงการอภิปราย หัวข้อ AI Practical Applications in Education and Best Practices around the World” และมีการประชุมกลุ่มย่อยระดับเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวกับความท้าทายด้านการศึกษาของภูมิภาค นอกจากจะมีการประชุมแล้ว ยังมีการจัดบูทนิทรรศการเทคโนโลยีด้านการศึกษาจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนอย่างหลากหลาย

ในการประชุมมีการนำเสนอและอภิปรายประเด็นความสำคัญและบทบาทของ AI ต่อการศึกษา ซึ่งส่งเสริมและช่วยพัฒนาการเรียนการสอนในหลายมิติ เช่น การช่วยบริหารจัดการเวลาและผ่อนแรงครูผู้สอน การใช้ฐานข้อมูลเพื่อวางแผนหรือคาดการณ์สำหรับอนาคต การทำวิจัย เป็นเครื่องมือให้เข้าถึงการศึกษา และการต่อยอดด้านการศึกษาและการริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นต้น ปัจจุบันองค์การด้านการศึกษาและบริษัทด้านเทคโนโลยีการศึกษาได้พัฒนาหลักสูตร คู่มือ ชุดการเรียนการสอน และแอปพลิเคชัน ด้านการศึกษาหลากหลาย เพื่อให้ครูและผู้เรียนได้เข้าถึงและปรับใช้ตามความเหมาะสม

แต่ทั้งนี้ ยังมีข้อกังวลทั้งในเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ความแตกต่างในบริบทของแต่ละประเทศ อุปสรรคด้านภาษา ความกลัวเทคโนโลยี ความไม่พร้อมของครู และความปลอดภัย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับครูและผู้ปกครองให้มีความรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์  โดยทุกฝ่ายควรคำนึงถึงประโยชน์และการนำไปใช้ให้มากขึ้น

ในโอกาสนี้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้พบกับผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศต่างๆ  ระดับทวิภาคี ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ลาว อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และมาเลเซีย ตลอดจนได้พบกับภาคเอกชน ที่เป็นผู้นำในการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา ได้แก่ บริษัทแอปเปิล สำนักงานใหญ่ลอนดอน, บริษัทเพียร์สัน, British Expertise International (BEI),Education Development Trust (EDT) และ MetaMetrics เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการศึกษาและเสนอแนวทางความร่วมมือในการจัดการศึกษาระดับนานาชาติ โดยมีการนำเสนอนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้กับผู้นำทางการศึกษาของประเทศต่างๆ และภาคเอกชนได้รับทราบ โดยสรุปดังนี้

นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จะลดภาระให้กับครูและนักเรียน ตลอดจนผู้ปกครอง เพื่อที่จะทำให้ทุกฝ่ายมีเวลาร่วมมือช่วยกันพัฒนานักเรียนให้เรียนรู้อย่างมีความสุข ได้ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษา
การส่งเสริม และสนับสนุนการใช้ Digital โดยให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ การใช้ระบบ e-Meeting การพัฒนาระบบการย้ายครูคืนถิ่นโดยใช้เทคโนโลยี การพิจารณาความก้าวหน้าของครูโดยการใช้ระบบเทคโนโลยี การสร้างความตระหนักในการปรับตัว  ด้านการใช้เทคโนโลยี การพัฒนาด้านดิจิทัลทั้งระดับการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การพัฒนา platform ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ทั้งในและนอกห้องเรียน ตลอดจนการวางแผนและของบประมาณในการเตรียมการเช่าหรือจัดหา tablet ให้ครูและนักเรียน เพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีดิจิตัลในการเรียนการสอน
การส่งเสริม สนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันพัฒนาการศึกษาในมิติต่างๆ ตามแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” เนื่องจากการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคม ดังนั้นทุกคนทุกฝ่ายควรจะต้องมาร่วมมือร่วมใจในการสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามศักยภาพของแต่ละภาคส่วน จะส่งผลให้เกิดพลังสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการศึกษา ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”

นอกจากนี้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชาสัมพันธ์การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ให้กับผู้นำการศึกษาจากประเทศในอาเซียน และประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบและเชิญเข้าร่วมประชุม ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 23-26 เดือนสิงหาคม 2567 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้หัวข้อ “Transforming Education in the Digital Era” ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้นำการศึกษาจากสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศและประเทศอื่นๆ อีก 8 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์





















 

รัชนินท์ พงศ์อุดม
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

The post รองปลัด ศธ. “พิเชฐ” ประชุมระดับโลกด้านการศึกษา Education World Forum 2024, London appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post