UNESCO, Paris – นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นผู้แทนไทยนำเสนอแนวคิด แผนและเป้าหมายการดำเนินงานด้านการศึกษาประเทศไทย ในงานสัปดาห์การเรียนรู้ดิจิทัล ประจำปี 2567 (Digital Learning Week 2024 “Steering technology for education”) โดยนางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนางนันทวรรณ ไฮนด์ส เจ้าหน้าที่สำนักงานยูเนสโก ประเทศไทย เข้าร่วม ระหว่างวันที่ 2 – 5 กันยายน 2567 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส


นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี กล่าวว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้นำในการกำหนดนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนาการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน จะทำให้การเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ผ่าน Platform และ Device หลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของUNESCO-Huawei

ที่สำคัญประเทศไทยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน เพราะมีเป้าหมายพัฒนาผู้เรียนให้มีโอกาสและคุณภาพ ดังนั้นการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ทักษะทางการใช้เทคโนโลยี จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียน ทำให้ครูตระหนัก ตื่นตัวและให้ความสำคัญในการพัฒนาตนเอง ซึ่งปัจจุบันมีครู 40% ผ่านการฝึกอบรมทักษะเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการ

ด้วยวิสัยทัศน์ของประเทศไทย 4.0 ที่จะบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการศึกษาเพื่อสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาสำหรับนักเรียน ซึ่งจะมีการจัดทำ National Digital Learning Platform-NDLP โดยออกแบบให้ครอบคลุมฐานข้อมูลการเรียนรู้ดิจิทัลอย่างมีคุณภาพให้ทั่วถึงโรงเรียนทั่วประเทศไทย

สำหรับเป้าหมายที่จะดำเนินการในการใช้พัฒนาและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอน และพัฒนาผู้เรียนให้มีโอกาสและมีคุณภาพโดยเท่าเทียมและทั่วถึง มีดังนี้

1. จัดทำ National Digital Learning Platform-NDLP โดยในระยะเวลา 2 ปี จะมีโรงเรียนอย่างน้อย 100 แห่งสามารถเชื่อมโยงเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มนี้และเพิ่มมากยิ่งขึ้นในระยะยาว 

2. การผลิตเนื้อหาความรู้ดิจิทัลเข้าสู่ NDLP โดยในระยะเบื้องต้นจะผลิตอย่างน้อย 500 เรื่องเข้าสู่ระบบ และเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น 

3. พัฒนาและส่งเสริมให้ครูนำฐานข้อมูลความรู้จาก NDLP ไปพัฒนาการเรียนการสอน โดยในระยะเบื้องต้นจะมีครูไม่น้อยกว่า 1,000 คน ได้รับการพัฒนาสมรรถนะในการนำความรู้ไปพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพผ่านระบบOnline และ Offline

4. การวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาการศึกษาไปสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

5. นำโครงการ UNESCO-Huawei ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาจากบริษัท Huawei ไปติดตั้งที่โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโรงเรียนนำร่องแห่งแรก โดยมีการทดลองการใช้ระบบการเรียนการสอนสองทางแบบ Active Learning ระหว่างโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนเครือข่ายอีก 4 แห่ง ในระหว่างที่มีการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2567 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยผู้นำด้านการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน และมีความเห็นสอดคล้องกันว่าการจัดการเรียนการสอนผ่านอุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนตามโครงการความร่วมมือของ UNESCO-Huawei จะเป็นการเพิ่มโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาให้กับผู้เรียน

  นอกจากนี้ ยังมีการจัดเสวนากลุ่มย่อย ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องต่อพัฒนาการของนักเรียน นักศึกษา เพิ่มทักษะในทางปัจเจกบุคคลให้เข้าถึงปัญญาประดิษฐ์ในทางการศึกษา ผลักดันให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล  ทั้งหมดนี้จะต้องมีการร่างแผนหรือโครงสร้างสำหรับการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้คนรุ่นใหม่รู้จักควบคุมและสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ได้ ซึ่งการวางแผนการเรียนการสอนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นในระดับอุดมศึกษาด้วย 

พบพร ผดุงพล / ข่าว

สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ / ข้อมูล , ภาพ

The post รองปลัด ศธ. ‘พิเชฐ’ นำเสนอเป้าหมายการศึกษาไทยในเวทีโลก Digital Learning Week 2024 at UNESCO, Paris appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post