นักเรียนการ์ดอย
19 มิถุนายน 2567 – นายสิร...
7 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้ ทักษะการวางแผน และองค์ความรู้ทางการเงินและการออม ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ชั้น 4 หอประชุมคุรุสภา
รมว.ศธ. กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งภาคประชาชนและบุคลากรภาครัฐ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้เห็นผล จนสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาสังคมในภาพรวมไปพร้อมกัน ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นประเด็นสำคัญหนึ่งของนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการลดภาระครูฯ ซึ่ง รมว.ศธ. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ขอขอบคุณกลุ่มตัวแทนจากทุกหน่วยงาน ที่มาร่วมขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ฯ ถือเป็นการสร้างโมเดลในการแก้ไขปัญหา ที่จะสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการนำไปพัฒนาได้ เพราะเมื่อทุกคนมีความรู้และทักษะการวางแผนทางการเงินและการออม มีวินัยการบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถถ่ายทอด ต่อยอด ขยายความรู้ไปยังผู้อื่น เปรียบดังหมอที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาและจะช่วยเยียวยารักษาคนไข้ ให้มีสภาพคล่อง สร้างขวัญกำลังใจ สามารถเป็นต้นแบบในการวางแผนพัฒนาตนเองจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือสามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ
“สิ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน คือ ต้องมีวินัยในตนเอง เมื่อมีวินัยในตนเองก็จะสามารถจัดการสภาพคล่องของตนเองได้ และเชื่อว่าเราจะสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านไปได้ ด้วยการจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ร่วมกันเสริมสร้างสมรรถนะด้านการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ ทั้งในส่วนของครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนทุกคน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการ วางแผนทางการเงิน การสร้างวินัยการออม รวมทั้งการลงทุนให้เกิดรายได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างดี และมีความสุข”
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรของ รมว.ศธ. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากร สพฐ. ได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือครู บุคลากรและนักเรียนทุกคน ในส่วนของครู บุคลากรต้องมีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น มีเงินเดือนเหลือมากกว่าร้อยละ 30 เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินด้วยตนเอง ในส่วนของนักเรียนต้องมีความรู้ และทักษะด้านการเงิน เพื่อให้มีสมรรถนะด้านการเงินพร้อมใช้ชีวิตในอนาคต
เพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้มีการดำเนินการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งจัดทำระบบออนไลน์รับลงทะเบียนผู้สมัครใจแก้ไขหนี้สิน ตลอดจนการประสานและเจรจาสถาบันการเงิน เพื่อลดดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ แสวงหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
“นับเป็นอีกย่างก้าวหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ผ่านการอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ มีทักษะการวางแผนทางการเงินและการออม ป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินรายบุคคล รวมถึงพัฒนาบุคลากรต้นแบบการแก้ปัญหาหนี้สินด้วยตนเอง ตลอดจนพัฒนาบุคลากรเพื่อเป็นที่ปรึกษาการแก้ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ OBEC Money Coach ซึ่งจะเป็นบุคคลสำคัญในการช่วยเหลือ 245 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เป็นสถานีแก้หนี้ ในการให้คำปรึกษาทางด้านการเงินแก่เพื่อนครูทั่วประเทศต่อไป”
สำหรับพิธีเปิดฯ มีผู้บริหารระดับสูง ศธ. เข้าร่วม อาทิ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา, นางเกศทิพย์ ศุภวานิช นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. และนางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา โดยได้เกียรติจากนายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ (โค้ชหนุ่ม) และคณะ มาเป็นวิทยากรพร้อมดำเนินการพัฒนาหลักสูตร“เสริมสภาพคล่องการเงินครู” และ “ครูไทยการเงินดีมีความสุข เกษียณสบาย”การอบรมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 8 พฤษภาคม 2567 / ผู้เข้าอบรมประกอบด้วยข้าราชการครูและบุคลากร สังกัด สป. สพฐ. สอศ. กคศ. สกสค. และ สกร. รวมทั้งสิ้น 168 คน
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
The post รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เร่งขับเคลื่อนติดอาวุธทางความรู้ให้ครูไทย สร้างวินัยบริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.