รมว.ศธ.แจ้งส่วนร
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” มี...
สัปปายะสภาสถาน 3 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 13/2567 พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ., นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., ผู้บริหารระดับสูงองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับเข้าร่วม ณ ห้องประชุม N 405 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา และประชุมผ่านระบบ e-Meeting มีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
ความก้าวหน้าเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA 2025
รมว.ศธ. กล่าวเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน พิจารณาแนวทางการพัฒนาและดำเนินการสร้างมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยให้มีความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้มีการประชุมร่วมกับองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF) เรื่อง การใช้ PISA ในทางปฏิบัติ : พลังของข้อมูลเพื่อการปรับปรุงการศึกษา เป็นการเชื่อมโยงผลจาก PISA กับการปฏิรูประบบการศึกษา เป็นเวทีการประชุมให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงทางการศึกษาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนในสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาด้วยการใช้ข้อมูล PISA เพื่อการปรับปรุงการศึกษาและการเชื่อมโยงผลจาก PISA กับการปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งสิ่งที่ ศธ. ต้องเร่งดำเนินการ คือการใช้ผลการประเมิน PISA เป็นกลไกในการผลักดันคุณภาพครู ผู้เรียน และการศึกษาในองค์รวม การพัฒนาครู ให้เป็นครูสมรรถนะสูง และการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้เสนอผลการประชุมคณะกรรมการ PISA แห่งชาติที่ผ่านมา โดยดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานภายในหน่วยงานแต่ละสังกัดที่มีนักเรียนเข้าร่วมการสอบ PISA มีการวางแผนระยะยาวในการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนตามแนวทางการประเมิน PISA และบริหารจัดการให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดำเนินการขับเคลื่อน PISA ลงสู่สถานศึกษาทุกสังกัดในจังหวัด โดยให้ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศของกระทรวงศึกษาธิการ (คปภ.)และดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการพัฒนานักเรียนชั้น ม.2 และ ม.3 ในปีการศึกษา 2567
โดยได้ร่วมกับ สพฐ. ในการนำแนวข้อสอบแนว PISA ในฐานข้อมูลมาจัดทำเป็นแบบฝึกความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และจัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านอย่างฉลาดรู้ ความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามแนวของ PISA นอกจากนี้ยังได้ทำการจัดหาและจัดทำแบบฝึกเพิ่มเติมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์และการแก้โจทย์ปัญหาที่เกี่ยวกับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ ความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การฝึกอบรมวิทยากรแกนนำและเตรียมความพร้อมการเป็นพี่เลี้ยงของเขตพื้นที่ และฝึกอบรมวิทยากรประจำสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา เพื่อขยายผลและขับเคลื่อนเอกสารชุดแบบฝึก 183 เขตพื้นที่ รวม 4 ภูมิภาค และจัดประชุมชี้แจงการดำเนินการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยการใช้องค์ความรู้ PISA ไปยังทุกโรงเรียนในสังกัดผ่านระบบออนไลน์
นอกจากนี้ รมว.ศธ. ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับโปรแกรมการสอบ PISA ของผู้บริหารสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนักเรียนเข้ารับการทดสอบ PISA และมอบหมายให้ สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการให้มีการเข้าสอบ โดยขยายไปยังผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั้ง 62 เขต และผู้บริหารของทุกหน่วยงาน เพื่อให้ผู้บริหารได้รับการประเมินและเป็นข้อมูลสำหรับใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาและข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งผลการประเมินของ PISA ทำให้ทราบว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมสำหรับนักเรียนในการเตรียมความพร้อมในการสอบมากน้อยเพียงใด โดย สทศ. ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลข้อสอบ PISA มาจัดทำเป็นระบบการทดสอบออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริหารได้ทดลองเข้าสอบ
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) (องค์การมหาชน) ได้เสนอผลการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานต้นสังกัด (สพฐ. สช. อปท. กทม. สอศ. สกร. สป.อว. และ สทศ.) ในการปรับวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก ด้านคุณภาพของผู้เรียน โดยใช้หลักการพิจารณาเชิงระบบเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบความสอดคล้องระหว่างผลการประเมินคุณภาพภายนอกด้านคุณภาพของผู้เรียน กับผลการทดสอบระดับชาติ และพัฒนาเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลทรัพยากรการจัดการศึกษาของสถานศึกษา เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์หาปัจจัยเชิงสาเหตุ (ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ ด้านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และด้านทรัพยากรการจัดการศึกษา) ที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน รวมถึงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการยกระดับคุณภาพการศึกษาเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดและกระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เสนอผลการดำเนินการยกร่างแนวทางยกระดับผลการประเมิน PISA 2025 ของ สอศ. ซึ่งได้กำหนดกิจกรรม ดังนี้ 1) สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประเมิน PISA ให้แก่ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ในสังกัด สอศ. 2) เตรียมความพร้อมครู โดยการจัดอบรมเพิ่มทักษะการสอนตามแนวทางการประเมิน PISA 3) ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแนวทางการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล และ 4) ให้สถานศึกษาส่งเสริม Self learning ของผู้เรียนให้สามารถเชื่อมโยงวิเคราะห์ตนเอง ประยุกต์ใช้ความรู้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
การเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อของนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2567
รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการรับนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศปฏิทินการรับนักเรียนฯ โดยได้เน้นย้ำให้ทุกโรงเรียนดำเนินการในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ ให้เรียบร้อยภายในเดือนมีนาคม 2567 และได้กำชับให้ทุกเขตพื้นที่ฯ กำกับดูแลการดำเนินกระบวนการสอบ หรือกระบวนการคัดเลือกนักเรียนให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้มีข้อห่วงใยสำหรับนักเรียนที่ยังไม่มีสถานที่เรียน หรือพลาดโอกาสจากการสอบแข่งขันให้ได้มีที่เรียน ขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมกันดำเนินการให้ “เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน และมีคุณภาพ”
ด้าน สพฐ. ได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการรับนักเรียนปีการศึกษา 2567” เพื่อช่วยเหลือประสานงานและให้ข้อเสนอแนะแก่นักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งจัดหาที่เรียนให้แก่นักเรียนทุกคน โดยผู้ปกครองและนักเรียนสามารถยื่นความจำนงได้ ตั้งแต่วันที่ทราบประกาศผลการสอบ และนักเรียนทุกคนจะต้องมีที่เรียนในโรงเรียนที่ยังมีที่ว่าง สามารถรองรับนักเรียนได้ และให้รับมอบตัวตามปฏิทินการรับนักเรียนที่กำหนด
ในส่วนของการเตรียมการเปิดภาคเรียน 2567 ทุกโรงเรียนต้องมีครูและผู้บริหารสถานศึกษาพร้อมปฏิบัติหน้าที่ครบทุกโรงเรียน สพฐ. ได้ประกาศการดำเนินการคัดเลือกครูผู้ช่วย (กรณีพิเศษ) และผู้บริหารสถานศึกษาเตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ครบทุกโรงเรียน ก่อนการเปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2567 ตอบรับนโยบายที่ต้องการให้มีครูและผู้บริหารสถานศึกษา พร้อมรับการเปิดเทอมเพื่อให้ทันการจัดการเรียนการสอน ให้มีความต่อเนื่องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ “ทุกตำแหน่งพร้อมปฏิบัติหน้าที่ณ สถานศึกษาตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2567”
การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์
รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 20 ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้มอบหมายให้ เลขาธิการ กพฐ. และ ปลัด ศธ. ร่วมกันกำกับติดตามการดำเนินงานโดยให้มีการประสานงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ในการขับเคลื่อนให้เกิดการจัดตั้งได้อย่างรวดเร็ว โดยให้รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานในปีการศึกษาที่ผ่านมารวมถึงปัญหาอุปสรรคและแผนการดำเนินงานในปีการศึกษา 2567 ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในปัจจุบัน ทั้ง 19 พื้นที่
พร้อมนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้รวดเร็ว รอบคอบ และเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง ทั้งนี้การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะส่งผลให้สถานศึกษานำร่องในพื้นที่ได้สามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ สามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างเหมาะสม และยังเป็นการช่วยผลักดันการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับพื้นที่ สามารถปรับลดและยกเลิกโครงการที่เพิ่มภาระงานครูและส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ด้วยกลไกการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อผู้เรียน สถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
การขอรับจัดสรรงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน
รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการขอรับจัดสรรงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน คือ โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวนนักเรียนทั้งหมด 575,983 คน รวมจำนวน 7,344 แห่ง งบประมาณกว่า 155 ล้านบาท ในระยะเวลา 200 วัน ต่อปีการศึกษา รวมงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 2,955 ล้านบาท โดยให้มีผลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
ซึ่งผลจากการได้รับการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันนั้น จะทำให้นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน จะช่วยแก้ปัญหาภาวะโภชนาการในนักเรียนได้เป็นอย่างดี และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการจัดหาอาหารกลางวัน สอดคล้องกับนโยบายของ รมว.ศธ. ในการลดภาระผู้ปกครอง และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานดำเนินการด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ เตรียมแผนการดำเนินงาน การเตรียมความพร้อม รวมถึงการวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้มีความโปร่งใส มีการกำกับติดตามการดำเนินงาน และรายงานให้ รมว.ศธ. และผู้บริหารทราบทุกระยะ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการจ้างนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับจ้างเหมาบริการนักการภารโรง ทั้งในส่วนของการขอรับการจัดสรรในงบกลางปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในการจ้างนักการภารโรง จำนวน 13,751 อัตรา งบประมาณกว่า 618 ล้านบาท และการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างคณะรัฐมนตรีพิจารณางบประมาณดังกล่าว
โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการจ้างนักการภารโรง ให้ครบทุกโรงเรียน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และในปีงบประมาณต่อไป ให้ สพฐ. พิจารณาทางเลือกอื่นที่เป็นเทคโนโลยีทันสมัย เช่น นำระบบกล้องวงจรปิดมาใช้ในโรงเรียนเพื่อช่วยตรวจตราความปลอดภัยของโรงเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านทรัพยากร งบประมาณ ที่สามารถนำครุภัณฑ์และเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการดูแลความปลอดภัยของอาคารสถานที่และทรัพย์สินของโรงเรียน ซึ่งจะช่วยลดภาระของครู ทำให้ครูสามารถทำหน้าที่หลักในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งการมีนักการภารโรงจะช่วยดูแลสภาพแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค ดูแลทรัพย์สินและความปลอดภัยของครูและนักเรียน
“ศธ. มีภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการ และที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในหลายภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานขอรับการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวัน การจ้างนักการภารโรง หรืองบประมาณประจำที่ต้องดำเนินการ การพัฒนามาตรฐานทางการศึกษา การจัดการศึกษาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หรือการตรวจราชการ เป็นต้น จึงขอให้ทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือในการดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเรียนรู้นโยบายและวิธีการที่มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ ซึ่งในการดำเนินงานนั้น ต้องมีการวางแผนและการเตรียมการเป็นอย่างดี สิ่งสำคัญคือการสร้างแรงจูงใจ การกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของงานและภารกิจเป็นสำคัญ ร่วมกันดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วง ขอให้ทุกคนจับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
The post ผลการประชุมประสานภารกิจ ศธ. นอกสถานที่ครั้งแรก เร่งยกระดับ-ลดความเหลื่อมล้ำ ย้ำปีการศึกษา 2567 “เด็กทุกคนต้องมีที่เรียนอย่างมีคุณภาพ” appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.