‘เพิ่มพูน’ แถลง ครม.อนุมัติงบกลาง จ้างนักการภารโรงทุกโรงเรียน ชื่นชมนักเรียนกล้าหาญจากสมุทรปราการช่วยคนจมน้ำ แนะเชิญโรงเรียนสังกัดอื่นมาร่วมเตรียมตัวสอบ PISA 2025 พร้อมเตรียมชาวอาชีวะช่วยประชาชนช่วงสงกรานต์

10 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 14/2567

ขอบคุณนายกรัฐมนตรี อนุมติงบกลาง จ้างนักการภารโรงครบทุกโรงเรียน เริ่ม 1 พ.ค. 2567

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ที่มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 618,795,000 บาท สำหรับจ้างเหมาบริการนักการภารโรง เพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการจ้างนักการภารโรงครบทุกโรงเรียนได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 13,751 อัตรา ระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคม-กันยายน 2567

ในส่วนของปี 2568 ครม.ได้อนุมัติงบประมาณปี พ.ศ. 2568 ในลักษณะผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2568-2570) จำนวน 25,370 อัตรา รวมเป็นเงินกว่า 2,739,960,000 บาท ซึ่ง สพฐ.จะจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

โดยหลังจากนี้ทาง สพฐ. จะได้แจ้งบัญชีจัดสรรนักการภารโรงไปยังเขตพื้นที่การศึกษา ก่อนจัดสรรต่อไปให้โรงเรียน ซึ่งคาดว่าโรงเรียนจะสามารถสรรหาและทำสัญญาจ้างได้ภายใน 30 เมษายนนี้

ขณะนี้ได้กำชับ สพฐ. วางคุณสมบัติผู้สมัครให้ชัดเจน เช่น ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น ที่สำคัญคือหากผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เนื่องจากเราต้องเข้มงวดเรื่องการรักษาความปลอดภัย ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นนักการภารโรง หากผ่านการเกณฑ์ทหารแล้วหรือผ่านการเป็นนักศึกษาวิชาทหารเป็นกำลังพลสำรองของกองทัพไทยภายใต้การควบคุมของโรงเรียนรักษาดินแดน (รด.) มาแล้วก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

“นอกจากนั้นก็ต้องมีคุณสมบัติในเรื่องของการเป็นช่างซ่อมด้านต่าง ๆ ช่างฝีมือ ขับรถยนต์หรือจักรยานยนต์ได้ โดยจะร่างเป็นเกณฑ์ขึ้นมาให้ชัดเจน ดังนั้นนักการภารโรงของต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมา ซึ่งเหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะนักการภารโรงสำหรับเราเปรียบเสมือนกับแก้วสารพัดนึก ที่จะมาช่วยคุณครูของเราลดภาระงานต่าง ๆ ช่วยดูแลโรงเรียน เป็นผู้ปฏิบัติงานสำคัญ ไม่ใช่เป็นแค่ยามเฝ้าโรงเรียนแต่จะเป็นทุกอย่างที่เข้ามาช่วยเติมเต็มโรงเรียน ให้ครูและนักเรียนของเรา”

ชื่นชมนักเรียนฮีโร่จากสมุทรปราการช่วยคนจมน้ำ

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้ยกย่องชื่นชม ด.ช.อมรเทพ เมษา นักเรียนชั้น ม.2/6 โรงเรียนหาดอมราอักษรลักษณ์วิทยา สังกัด สพม.สมุทรปราการ ที่ได้กระทำความดีที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจมน้ำ เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา โดย ด.ช.อมรเทพ ได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือ จึงโยนโฟมลงไปให้ผู้ประสบเหตุ แต่ผู้ประสบเหตุไม่ยอมเกาะ จึงตัดสินใจกระโดดลงน้ำเพื่อว่ายเข้าไปช่วยเหลือ จนสามารถนำตัวผู้ประสบเหตุขึ้นจากฝั่งได้อย่างปลอดภัย

ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า สสวท. ได้รายงานการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA ซึ่ง สสวท. ได้รายงานหลักสูตรการวัดผลประเมินผลตามแนวทาง PISA เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถนำแนวทาง PISA มาปรับใช้ในชั้นเรียน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์แบบสะสมชั่วโมงเรียนจนครบ 7 บทเรียน มีครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียน 6,562 ราย เข้ารับการอบรมแล้ว 1,573 ราย เรียนสำเร็จแล้ว 607 ราย และกำลังเรียน 966 ราย

ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้แนะนำให้เชิญสถานศึกษาจากสังกัดอื่นเข้ามาร่วมเรียนด้วย เพื่อให้ผลการสอบ PISA 2025 มีผลคะแนนสูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ในขณะที่ สพฐ. ได้มีแนวคิดในการจัดระบบพี่เลี้ยง “โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง” โดยพัฒนาชุดกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะความรู้ จัดการเรียนรู้ในห้องเรียน เพิ่มเติมคลังแบบทดสอบตามแนวทางการประเมิน PISA พร้อมพัฒนาแนวทางการวัดผลในรูปแบบ Computer Based ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมความพร้อมให้ศึกษานิเทศก์ในเรื่อง PISA ขณะเดียวกันมีนักเรียนเป้าหมายที่เข้าระบบ PISA Style Online Testing ทดลองใช้เครื่องมือในการพัฒนา กว่า 56,973 คน โดยในอนาคต สพฐ. ได้วางแผนการฝึกอบรมวิทยากรแกนนำและการเตรียมความพร้อมเป็นพี่เลี้ยงของเขตพื้นที่รูปแบบออนไลน์ รวมถึงเขตพื้นที่มัธยมศึกษาและประถมศึกษาต่อไป

สพฐ.รายงานสรุปความคิดเห็นครู-นักเรียนทั่วประเทศ

การประชุมครั้งนี้ สพฐ. ได้รายงานผลการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในโรงเรียน และการดำเนินการพัฒนา ของนักเรียนสังกัด สพฐ. ชั้น ป.4-6 และ ม.1-ม.6 รวม 511,711 คน โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกิจกรรมการพัฒนานักเรียนในด้านต่าง ๆ ได้แก่

เรียนรู้เรื่องการเงิน เห็นด้วย 97.2% ไม่เห็นด้วย 2.8%
การเรียนรู้และป้องกันอันตรายจากการใช้สื่อออนไลน์ เห็นด้วย 97.2% ไม่เห็นด้วย 2.8%
กีฬา E-Sport ควรมีการสอนในโรงเรียน ฝึกการคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาได้ เป็นอาชีพ เห็นด้วย 93.9% ไม่เห็นด้วย 6.1%
การเข้าแถวหน้าเสาธง เห็นด้วย 86.9% ไม่เห็นด้วย 13.1% ควรสร้างความรู้สึกต้องการมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจในทุกวัน ยึดหยุ่นตามสถานการณ์
สมุดบันทึกความดี เห็นด้วย 96.2% ไม่เห็นด้วย 3.8%
ค่ายธรรมะ เห็นด้วย 94.5% ไม่เห็นด้วย 5.5% ควรเห็นไปตามความสมัครใจ และพัฒนาครูโค้ชคุณธรรม
วิชาพระพุทธศาสนา เห็นด้วย 92.8% ไม่เห็นด้วย 7.2%
กิจกรรมลูกเสือ เห็นด้วย 90.3% ไม่เห็นด้วย 9.7%
วิชาประวัติศาสตร์ การเรียนรู้เรื่องราวในอดีตสร้างความภาคภูมิใจ และการเรียนประวัติศาสตร์ควรมีสื่อและวิธีการที่หลากหลายน่าสนใจ ทันสมัย เห็นด้วย 92.3% ไม่เห็นด้วย 7.7%
การทำโทษนักเรียน ควรบอกเหตุผลก่อนลงโทษตามระเบียบของโรงเรียน และไม่ควรนำไปบอกให้ผู้อื่นทราบ เห็นด้วย 96.8% ไม่เห็นด้วย 3.2%
ห้องน้ำ อาคารเรียน นักเรียนชอบอาคารเรียน ห้องน้ำ บริเวณโรงเรียนสะอาดปลอดภัยกับนักเรียน เห็นด้วย 97.8% ไม่เห็นด้วย 2.2%
การออกแบบการเรียนรู้ เห็นด้วย 95.6% ไม่เห็นด้วย 4.4%
การเรียนรู้นอกสถานที่ เห็นด้วย 96.7% ไม่เห็นด้วย 3.3%
การเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ควรมีแหล่งเรียนรู้ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ สามารถทบทวนได้ตลอดเวลา เห็นด้วย 97% ไม่เห็นด้วย 3%

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอฝากให้ทุกหน่วยงานนำผลสำรวจของ สพฐ. ไปทำการวิเคราะห์และดำเนินการต่อในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในเรื่องห้องน้ำโรงเรียน มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดดำเนินการสำรวจข้อมูลความพึงพอใจ พร้อมจัดลำดับสถานะในการดำเนินการปรับปรุงในช่วงปิดภาคเรียน เช่น สีแดง สีเหลือง สีเขียว โดยต้องมีข้อมูล รูปถ่ายการสำรวจก่อนและหลังการปรับปรุง โดยเฉพาะการปรับปรุงเชิงกายภาพ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงด้านใดบ้าง และรีบทำให้เสร็จก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567

ความร่วมมือทวิภาคีของ สอศ. กับภาคเอกชน

ในส่วนของ สอศ. มีความก้าวหน้าการศึกษาระบบทวิภาคี โดยได้ปฐมนิเทศนักศึกษา ทวิภาคี 960 คน เข้าร่วมฝึกอาชีพกับบริษัทไมเนอร์ การอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีแก่ผู้บริหาร ครู และบุคลากร จากสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดทั่วประเทศ 157 คน

ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือระหว่าง สอศ. กับภาคเอกชน ดึงบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้ง 3 แห่งของประเทศ ได้แก่  บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด และบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาระบบปกติและระบบทวิภาคีเพื่อผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ให้มีความพร้อมเมื่อจบการศึกษา มีทักษะฝีมือตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์

และในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สอศ. ได้ตั้งศูนย์บริการอาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน จำนวน 104 ศูนย์ทั่วประเทศไทย บนถนนสายหลักและสายรองระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2567

ประเด็นอื่นเพิ่มเติมจากที่ประชุม ได้แก่ การแนะนำวิธีการใช้ระบบการค้นหาเกียรติบัตร สป. (moecer.moe.go.th) และระบบการบริจาคของกระทรวงศึกษาธิการ (e-donation.moe.go.th)

ทั้งนี้ รมว.ศธ.มีข้อสั่งการในที่ประชุม ดังนี้

ขอความร่วมมือส่วนราชการทุกหน่วยงาน ให้ความสนใจติดตามการบริหารงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ฝากให้ทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้เรียน และผู้ปกครอง โดยเน้นการทำงานเชิงรุก ซึ่งเราจะไม่เป็นผักตบที่ลอยตามน้ำ แต่ควรเป็นเรือที่ต้องแล่นทวนน้ำ
การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของกระทรวงศึกษาธิการ อาจจะต้องมีการประชุมความก้าวหน้าและนำเรื่องการรับบริจาคโลหิตมารวมด้วย พร้อมระดมความคิดสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น การทำบุญตักบาตรทุกวันพระ ถวายเป็นพระราชกุศล เป็นต้น
การเตรียมจัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ มอบหมายให้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนงาน
มอบหมายให้ สพฐ. ผลิตคลิป สื่อสารให้เกิดอิทธิพลกับประชาชนในการตระหนักถึงการป้องกันนักเรียนและครูถูกหลอก เช่น มิจฉาชีพอาจจะมาหลอกเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบครูผู้ช่วย รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างบุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น
ในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ ให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดูแลป้องกันอัคคีภัย หรือเหตุต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดกับสำนักงานเมื่อไม่มีคนอยู่ เช่น ปิดวาล์วน้ำ ปิดระบบไฟ และให้มีกระบวนการกำกับติดตามการดูแลความปลอดภัยด้วย









 

ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว
พีรณัฐ ยุชยะทัต, ณัฐพล สุกไทย/ถ่ายภาพ

The post ผลการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 14/2567 appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post