ผลการคัดเลือกผู
หนังสื~1 The post ผลการคัด...
16 ตุลาคม 2567 / นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมตรวจราชการและติดตามประเมินผลตามนโยบายการตรวจราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พร้อมบรรยายพิเศษทิศทางการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของ รมว.ศธ. ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting
โดยมี ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 10 (จังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ เลย หนองคาย และหนองบัวลำภู) และเขตตรวจราชการที่ 11 (จังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) เข้าร่วมฯ กว่า 500 คน
ผตร.ศธ. กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจราชการ เปรียบดั่งเป็นหูเป็นตาให้กับ รมว.ศธ. ว่านโยบายที่ได้ให้ไว้ได้รับการขับเคลื่อนลงสู่ภูมิภาคตามบริบทแต่ละพื้นที่ถูกต้องชัดเจนอย่างไร ในฐานะ ผตร.ศธ. ก็ต้องไปสื่อสาร สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้เขตตรวจราชการที่รับผิดชอบได้ตระหนัก มีขวัญกำลังใจที่จะขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ทุกนโยบายที่ รมว.ศธ. ได้มอบไปล้วนแล้วแต่เป็นภารกิจที่เราได้ปฏิบัติอยู่แล้วในองค์กรทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารในพื้นที่จะพิจารณานำนโยบายข้อไหนเป็นตัวเร่งขับเคลื่อน หรือมีประเด็นอะไรในสังคมที่ทำให้เราต้องนำนโยบายนั้นมาขับเคลื่อนทันที
อย่างกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาที่เกิดขึ้น รมว.ศธ. ได้ย้ำชัดว่าเหตุการณ์แบบนี้ต้องเป็นกรณีสุดท้าย ทุกคนในฐานะผู้อำนวยการเขต ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ ก็ต้องเร่งขับเคลื่อนเตรียมมาตรการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งมีแผนและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นทุกกรณี พร้อมสื่อสารไปยังผู้ปกครอง ครู นักเรียน ให้มีความรู้ความเข้าใจในมาตรการและแผนฯ ในทิศทางเดียวกัน
นโยบายของรมว.ศธ. นั้น มีแนวคิดในการจัดการศึกษา 2 ข้อหลัก คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ เราจะวางแผนในระดับภูมิภาคอย่างไรเพื่อให้เด็กระดับหัวกะทิบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นเลิศยกระดับการแข่งขันของประเทศในเวทีระดับนานาชาติ อาจต้องขยายความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน อาทิ สสวท. ให้เข้ามาช่วยบริหารจัดการเรียนการสอน เป็นต้น และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต เราจะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนที่อยู่ชายขอบถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นผู้ด้อย พลาด ขาดโอกาสทางการศึกษา จะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้น้อง ๆ เหล่านี้ มีทักษะอาชีพติดตัว
ในฐานะ ศธภ. ศธจ. ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จะต้องไปออกแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้ลูก ๆ ในกลุ่มทั้ง 2 แนวคิดในการจัดการศึกษา มีความมั่นคง สามารถสร้างรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจนเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ในขณะเดียวกันยังมีนโยบายที่เป็น motto สำคัญ “เรียนดี มีความสุข” การที่จะทำให้นักเรียนเรียนดีมีความสุข ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับบริหาร ไปจนถึงสถานศึกษา ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ต้องเป็น “นักสร้างสนามพลังบวก” จะส่งผลโดยตรงต่อความสุขในห้องเรียน ดังคำกล่าวของ รมว.ศธ. “ความสุขเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง ถ้าผู้ปฏิบัติมีความสุข งานก็จะมีประสิทธิภาพ ถ้านักเรียนเรียนดีมีความสุข ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาก็จะสูงขึ้น“
“ฝากหน่วยงานที่รับการตรวจราชการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน นำไปออกแบบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดูแลสภาพแวดล้อมสถานศึกษาให้สะอาด เอื้อต่อการเรียนรู้ จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงจนเกิดทักษะชำนาญจนสามารถสร้างรายได้ ร่วมกันดำเนินงานตามข้อสั่งการและแนวปฏิบัติ เพื่อลดภาระผู้ปกครอง ครู นักเรียน จนเกิดผลเป็นรูปธรรมตามนโยบายของ รมว.ศธ. และนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษาต่อไป“
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
The post ผตร.ศธ. “สมใจ” ปลูกฝังผู้บริหารในภูมิภาค ต้องเป็น “นักสร้างสนามพลังบวก” ขับเคลื่อนนโยบาย รมว.ศธ. สร้างความสุขในการเรียนรู้ appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.