16 กรกฎาคม 2567 / นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษาในภูมิภาค พร้อมด้วยนายธนู ขวัญเดช นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัด ศธ. นายปรีดี ภูสีน้ำ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ. โดยมีศึกษาธิการภาค รองศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ ให้การต้อนรับและเข้าร่วม ณ ห้องประชุม ศ.มล.ปิ่น มาลากุล อาคารรัชมังคลาภิเษก 1

ปลัด ศธ. กล่าวว่า ภารกิจด้านการศึกษา เป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศชาติ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จ จึงดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นด้านการศึกษาในภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการกำหนดยุทธศาสตร์แนวทางการจัดการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษาตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลงสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

ด้วยการส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษาทุกระดับทุกประเภท ให้สอดคล้องกับบริบท และยุทธศาสตร์จังหวัด ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” โดยการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค รองศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการจังหวัด การจัดทำให้ภารกิจด้านการศึกษาบรรลุผลสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่บุคลากรและหน่วยงานปฏิบัติ ทั้งในส่วนกลาง และในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะสำนักงานศึกษาธิการภาค 1 – 18 และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 77 จังหวัด ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการนำและกำกับทิศทางและแนวนโยบายด้านการศึกษา มาขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ รมว.ศธ. มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ศึกษาธิการจังหวัด” จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในภูมิภาค มีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านการศึกษาในจังหวัด ไม่ใช่เพียงการเป็นผู้นำด้านการศึกษาเฉพาะในส่วนของหน่วยงานของ ศธ. เท่านั้น แต่จะต้องเป็นผู้นำเรื่องการศึกษาของทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาในจังหวัด นั่นหมายความว่าการจัดการศึกษาไม่ใช่แค่ในส่วนของ ศธ. เท่านั้น แต่ยังมีหน่วยงานทางการศึกษาอื่น อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ รวมกว่า 21 หน่วยงาน ก็มีจัดการศึกษาเช่นเดียวกัน

ในการดำเนินงานของ ศธ. นั้น มีหลากหลายภารกิจที่ต้องมีการวางแผน กำกับ ติดตาม และขับเคลื่อนงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ดังนั้นจึงเป็นบทบาทหน้าที่ที่ ศธจ. ต้องสร้างภาวะผู้นำให้กับตนเอง ปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ใช้อำนาจเพียงอย่างเดียว แต่ใช้วิธีการประสานงาน การเข้าไปสร้างเครือข่าย มีสายสัมพันธ์ เป็นโซ่ข้อกลางประสานงาน รวมถึงมีภาวะผู้นำในการบูรณาการการขับเคลื่อนงานยกระดับการศึกษาภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานการจัดการศึกษาอื่น เพื่อให้การขับเคลื่อนงานหรือนโยบายที่ ศธจ. ดำเนินการอยู่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

ศธจ. จึงต้องเปรียบเสมือน “ปลัดกระทรวง” ที่อยู่ในจังหวัดนั้น ๆ ต้องเป็นผู้รับนโยบาย ผู้ประสานงานเพื่อไปขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัด ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องพัฒนาตนเอง ในการทำงานหรือภารกิจต่าง ๆ นั้น อย่าทำงานเพียงเฉพาะด้าน แต่ต้องมีการพัฒนาศักยภาพ เพิ่มทักษะ พัฒนาความสามารถรอบด้าน ต้องมีการทบทวนและหาองค์ความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ รวมถึงการสร้างเครือข่ายก็ถือเป็นอีกหนึ่งในอีกบทบาทที่จำเป็นต้องทำ และสิ่งสำคัญที่สุด ศธจ. ต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเองรอบด้านเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้ตอบโจทย์การบริหารเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาปฐมวัย การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค พื้นที่นวัตกรรม การพัฒนาคุณภาพการศึกษา เมื่อรู้จักตัวตนจนขับเคลื่อนได้ทุกเรื่อง ก็จะเกิดการยอมรับในระดับจังหวัดมากขึ้น

“การจัดการศึกษาต้องไม่ใช่การตัดเสื้อโหลให้ทุกคนใส่ แต่การจัดการศึกษาต้องสอดรับกับบริบทของพื้นที่ เพราะบริบทของพื้นที่มีความแตกต่างกัน การจัดการศึกษาย่อมแตกต่างกัน ในเรื่องของการจัดทำแผนการศึกษาก็ต้องสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์จังหวัด เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรของประเทศในจังหวัดนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หน่วยงานการศึกษาต้องนำแผนไปขับเคลื่อนและต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและ รมว.ศธ. สู่การปฏิบัติในเชิงพื้นที่”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศศิวัฒน์ แป้นคุ้มญาติ / ภาพ

The post ปลัด ศธ. “สุเทพ” ย้ำ ยกระดับการศึกษาไม่ใช่การตัดเสื้อโหล แต่ต้องสอดรับกับบริบทของพื้นที่ appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post