เสมา 2 นำคณะ สพฐ. เ
เสมา 2 นำคณะ สพฐ. เยือ...
รมช.ศธ. “สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” เผยมติคณะรัฐมนตรี (28 มกราคม 2568) เห็นชอบงบ ศธ. 4 พันล้าน “เครดิตพอร์ตโฟลิโอ” และจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน “เรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา” เฟส 2 ปี 2569-2574 จำนวน 29,765 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาฯ 3,302 ล้านบาท
เรื่อง ขออนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมด้วยระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอ (The Digital Skill/Credit Portfolio: Empowering Educations)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ ศธ. โดยสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดําเนินโครงการส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมด้วยระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอ (The Digital SklUCredit Portfolio: Empowering Educations) (โครงการระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะ และเครดิตพอร์ตโฟลิโอฯ) งบประมาณจํานวน 4,214.74 ล้านบาท
2. อนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพื่อดําเนินโครงการระบบดิจิทัล พัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอฯ เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2573 วงเงินทั้งสิ้น 4,214.74 ล้านบาท โดยขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จํานวน 1,906.53 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินโครงการระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอฯ และส่วนที่เหลือ จํานวน 2,308.21 ล้านบาท ขอผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจําปี พ.ศ. 2570 – 2573
ประโยชน์ที่จะได้รับ
(1) ผู้เรียนได้รับการเสริมสร้างให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งฝึกฝนความสามารถที่สามารถนําไปใช้ในการทํางาน และสร้างเสริมทักษะด้านอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการที่สําคัญของประเทศ
(2) ครูและบุคลากรทางการศึกษามีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยสําหรับการจัดการเรียนรู้ โดยปรับบทบาทสู่การเป็นผู้สนับสนุนที่กระตุ้นความสนใจชี้แนะแนวทาง และส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
(3) สร้างโอกาสให้กับนักเรียนในการเตรียมความพร้อมและทักษะเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
(4) ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม
(5) สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นหาความสนใจ เพิ่มพูนทักษะและสามารถเข้าถึงการศึกษาและหลักสูตรตามความถนัดที่มีความสอดคล้องตรงตามความต้องการของตลาด
(6) สร้างมาตรฐานและลดภาระของผู้เรียนในการเตรียมตัวและจัดทําพอร์ตโฟลิโอสําหรับใช้ประกอบการสมัครเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้น
เรื่อง ขออนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาระยะที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ ศธ. ดําเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 (โครงการจัดหาอุปกรณ์ฯ ระยะที่ 2) งบประมาณจํานวน 29,765.25 ล้านบาท
2. อนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพื่อดําเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์ฯ ระยะที่ 2 เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2573 วงเงินทั้งสิ้น 29,765.25 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ขอรับงบประมาณรายจ่ายประจําปี จํานวน 5,953.05 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์ฯ ระยะที่ 2 และส่วนที่เหลือจํานวน 23,812.20 ล้านบาท ขอผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจํา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 – 2573 ต่อไป
สาระสำคัญ
1. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับจัดสรรงบประมาณ 482.26 ล้านบาท เพื่อดําเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน
ทุกที่ทุกเวลา : กิจกรรมพัฒนาระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (เป็นรายการปีเดียว ไม่ผูกพันงบประมาณ) โดยมีผลการดําเนินงาน เช่น เช่าใช้ระบบคลาวด์ จ้างที่ปรึกษาพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แห่งชาติ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน (NDLP) สําหรับโรงเรียนคุณภาพในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จํานวน 349 โรงเรียน [ไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเช่าใช้อุปกรณ์การเรียนการสอน (อุปกรณ์)] ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับจัดสรรงบประมาณรวมจํานวน 3,395.47 ล้านบาท เพื่อดําเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน
ทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : กิจกรรมจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2572 (ผูกพัน 5 ปี) เพื่อดําเนินกิจกรรม ดังนี้ (1) การส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 เช่น การเช่าใช้ระบบประมวลผลแบบคลาวด์ การจัดทํานวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ และ (2) การจัดหาอุปกรณ์ฯ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทําเอกสารร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference: TOR) เพื่อดําเนินกิจกรรมดังกล่าว
2. ในครั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดําเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการดําเนินการต่อเนื่องจากโครงการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในส่วนของการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา โดยวิธีการเช่า โดยขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการฯ เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2573 วงเงินทั้งสิ้น 29,765.25 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 5,953.05 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ และส่วนที่เหลือจำนวน 23,812.20 ล้านบาท ขอผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 – 2573 ต่อไป (ปีละ 5,953.05 ล้านบาท)
ประโยชน์ที่จะได้รับ
(1) นักเรียนและครูผู้สอนมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่สามารถเข้าใช้ NDLP สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์ที่มีคุณภาพ
(2) นักเรียนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและมีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนสามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่เชื่อมต่อกับโลกการทํางาน รวมถึงทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
(3) ส่งเสริมสนับสนุนการเปลี่ยนบทบาทครูให้เป็นครูยุคใหม่ โดยปรับบทบาทจาก “ครูสอน” เป็น “โค้ช” หรือ “ผู้อํานวยการการเรียนรู้” ทําหน้าที่กระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ แนะนําวิธีเรียนรู้และวิธีจัดระเบียบการสร้างความรู้ รวมทั้งออกแบบกิจกรรม และสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน ตลอดจนมีเครื่องมือและระบบการจัดการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและทันสมัย
เรื่อง ขออนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา : จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ ศธ. โดย สอศ. ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา (โครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาฯ) งบประมาณจำนวน 3,302.13 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กิจกรรมการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (กิจกรรมการจัดหาอุปกรณ์ฯ) งบประมาณจำนวน 3,212.13 ล้านบาท และ (2) กิจกรรมการผลิตสื่อวีดิทัศน์หรือสื่อโทรทัศน์เพื่อการศึกษาอาชีวศึกษาสำหรับการเรียนรู้แบบออนไลน์ และบริการหน่วยประมวลผลและพื้นที่หรืออุปกรณ์จัดเก็บสื่อดิจิทัล และการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบงานหรือระบบฐานข้อมูลภายนอกเพื่อขยายช่องทางเผยแพร่สื่อดิจิทัล งบประมาณจำนวน 90 ล้านบาท
2. อนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (โครงการจัดหาอุปกรณ์ฯ) เป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2572 วงเงินทั้งสิ้น 3,212.13 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 803.03 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์ฯ และส่วนที่เหลือจำนวน 2,409.10 ล้านบาท ขอผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 – 2572 ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ศธ. เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงศตวรรษที่ 21 โดยจะมีการปรับรูปแบบการเรียนรู้และการสอนเพื่อพัฒนาทักษะและอาชีพของทุกคนช่วงวัยด้วยการปรับโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัยและนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการจัดการเรียนการสอน มีการพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ศธ. ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งขยายประสิทธิภาพการทำงานของดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform: NDL) จากการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นการสื่อสารและการเรียนแบบสองทาง (มีการโต้ตอบ) โดยนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของ ศธ. ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา รวมถึงการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของครูและบุคลากรทางการศึกษาในกำกับ ศธ. ให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
2. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ศธ. โดย สอศ. จะดำเนินการขอตั้งงบประมาณ สำหรับโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาฯ งบประมาณจำนวน 3,302.13 ล้านบาท เพื่อดำเนิน 2 กิจกรรมหลัก สรุปได้ ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมการจัดหาอุปกรณ์ฯ
(1) ดำเนินการเช่าใช้อุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอน (เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา จำนวน 159,332 เครื่อง ระยะเวลา 48 เดือน (4 ปี)
(2) งบประมาณและระยะเวลาดำเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์ฯ ใช้วงเงินงบประมาณรวม 3,212.13 ล้านบาท ระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2572 โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ จำนวน 803.03 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา และส่วนที่เหลือจำนวน 2,409.10 ล้านบาท ขอผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 – 2572 ต่อไป (ปีละ 803.03 ล้านบาท) ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารและจัดหาหาระบบคอมพิวเตอร์ของ ศธ. [รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายวรัท พฤกษาทวีกุล) เป็นประธานการประชุม] มีมติเห็นชอบหลักการของโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา : จัดหาอุปกรณ์การสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (การเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 และให้หน่วยงานเสนอโครงการต่อคณะกรรมการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐพิจารณาต่อไป
กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมการผลิตสื่อวีดิทัศน์หรือสื่อโทรทัศน์เพื่อการศึกษาอาชีวศึกษาสำหรับการเรียนรู้แบบออนไลน์ และบริการหน่วยประมวลผลและพื้นที่หรืออุปกรณ์จัดเก็บสื่อดิจิทัล และการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบงานหรือระบบฐานข้อมูลภายนอกเพื่อขยายช่องทางเผยแพร่สื่อดิจิทัล สำหรับสนับสนุนการเรียนการสอนอาชีวศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2567 หรือหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง พุทธศักราช 2567 หรือหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ของ สอศ. หรือสื่อดิจิทัลเพื่อพัฒนาทักษะด้านอาชีพสำหรับเสริมสร้างความพร้อมให้นักเรียนนักศึกษาในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ วงเงินงบประมาณ 90 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2659)
ประโยชน์ที่จะได้รับ
1) นักเรียนและครูผู้สอนมีอุปกรณ์ที่มีคุณภาพในการเข้าใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้อาชีวศึกษา สนับสนุนการจัดเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์ที่มีคุณภาพ
2) ผู้เรียนได้รับการเรียนการสอนที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ได้อย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา
3) ผู้เรียนมีคุณลักษณะและทักษะอาชีพระยะสั้น ตลอดจนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่เชื่อมต่อกับโลกการทำงาน รวมถึงทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
4) ส่งเสริมสนับสนุนการเปลี่ยนบทบาทครูให้เป็นครูยุคใหม่โดยปรับบทบาทจาก “ครูสอน” เป็น “โค้ช” หรือ “ผู้อำนวยการเรียนรู้” ทำหน้าที่กระตุ้นสร้างแรงบันดาลใจ แนะนำวิธีเรียนรู้และวิธีจัดระเบียบการสร้างความรู้ รวมทั้งออกแบบกิจกรรมและสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน ตลอดจนมีเครื่องมือและระบบการจัดการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและทันสมัย
ทั้งนี้ ศธ. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรับต้องเสนอพร้อมกับการอนุมัติคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว
เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายปรีชา เวชศาสตร์ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ครูวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1. นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2. นายวิศรุต ปู่เพ็ง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
3. นายพิษณุ พลธี ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)]
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2568 เป็นต้นไป