ครบรอบ 133 ปี วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ 1 เมษายน นับเป็นวันสำคัญของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ที่ได้รับผิดชอบภาระหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างคน เพื่อพัฒนาประเทศ

ภายใต้ความเชื่อที่ว่าทุนมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ส่งเสริมการเกิดและเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เติบโตอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมการปลดล็อคศักยภาพทั้งทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน เพื่อตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเพื่อสร้างรายได้ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา พร้อมส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคต รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“การศึกษา” ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า กระทรวงศึกษาธิการจึงมุ่งมั่นใช้การศึกษาเพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบในการดำเนินงาน พร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สานต่อนโยบายเดิม และเพิ่มการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการเพิ่มเติมนโยบายตามแนวทางของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความมุ่งมั่น สานต่อนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนเป็นที่ประจักษ์ ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” ใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” มุ่งสร้าง “การศึกษาเท่าเทียม” ผ่านเครือข่ายการศึกษา เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับให้ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล ภายใต้แนวคิด “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” เพื่อพัฒนาคนไทยทุกคน ในทุกช่วงวัย ให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” มีศักยภาพและความพร้อม สนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อเป็นแนวทางให้ส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกํากับ ศธ. นําไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อเป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ภายใต้ 2 นโยบายหลัก พร้อมยกระดับความร่วมมือด้านการศึกษาในทุกมิติ

ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา

นโยบายการลดภาระครูด้วยการปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ (DPA) เพื่อลดขั้นตอน ทำให้การประเมินมีความสะดวก รวดเร็ว ช่วยประหยัดเวลา งบประมาณ ปิดช่องทางการทุจริต และลอกเลียนแบบผลงานทางวิชาการ ด้วยโปรแกรม “อักขราวิสุทธิ์” สำหรับการโยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่นนั้น ยึดหลักการสำคัญคือ ต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม จึงนำระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (TMS) ระบบย้ายข้าราชการครู (TRS) และระบบบริหารอัตรากำลัง (SCS) เชื่อมโยงกับระบบบริหารทรัพยากรบุคคล ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียน เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังมีความถูกต้อง แม่นยำ เหมาะสมกับภาระงานตามสภาพบริบทของพื้นที่

การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ดำเนินงานโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ ยกระดับการหักเงินเดือนและควบคุมยอดหนี้ ลดจำนวนครูกลุ่มเป็นหนี้ระดับวิกฤต จัดสรรวงเงินให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียน เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน ให้ความรู้และทักษะการบริหารจัดการด้านการเงิน การออมควบคู่กับการสร้างวินัยในการบริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเดินเครื่องเต็มกำลังแก้ปัญหา เติมความสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมความปลอดภัยให้กับครู และนักเรียน ด้วยการยกเลิก “ครูอยู่เวร” เพื่อความปลอดภัยของครู รวมทั้งจ้างนักการภารโรงในโรงเรียนที่ขาดแคลนเพื่อช่วยลดภาระงานครู ทั้งยังช่วยเกิดการจ้างงานในชุมชน รวมถึงการปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ลดภาระการประเมินของสถานศึกษา ให้ครูได้มีเวลาในการจัดการเรียนการสอนแก่เด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น การเปิดโอกาสให้พนักงานราชการ ลูกจ้าง ครูสอนศาสนาอิสลาม ครูอัตราจ้าง มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกเป็นข้าราชการครู เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ความมั่นคงในชีวิต ได้ครูที่มีศักยภาพและประสบการณ์ในการสอน ตรงความต้องการสถานศึกษา

ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง

ด้วยการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรีมีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ นำสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูล โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดการศึกษาของชาติโดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน ทำให้การพัฒนาทักษะและศักยภาพของผู้เรียนและครูผู้สอนให้ก้าวทันยุคดิจิทัล เกิดการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด

พร้อมทั้งสนับสนุนให้มี 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ให้มีความพร้อมเชิงกายภาพ มีโครงสร้างพื้นฐาน ห้องเรียนห้องปฏิบัติการ สื่อที่พร้อมใช้ เพียงพอ ทันสมัย เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร ผู้บริหาร โรงเรียนคุณภาพ สร้างเครือข่ายการศึกษาในพื้นที่ สนับสนุนค่าพาหนะในการเดินทางไปเรียนรวมให้นักเรียนโรงเรียนเครือข่าย และมีรถโรงเรียนรับ – ส่ง เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง

สำหรับการส่งเสริมระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต มุ่งสร้างความเข้มแข็งของระบบแนะแนวนักเรียน ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต เพื่อให้ค้นพบตนเอง เสริมสร้างทักษะชีวิต ป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต พฤติกรรมเสี่ยงสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยมีความสุข จัดทำหลักสูตรและพัฒนาครูแนะแนวแกนนำ พร้อมออกมาตรการป้องกันและเสริมสร้างความรอบรู้ อันตรายจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด ด้วยการขับเคลื่อนนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย โดยเชื่อมโยงเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยในระดับพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ให้ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ ด้วยการนำหน่วยกิตที่สะสมมาใช้เทียบคุณวุฒิ รับรองมาตรฐานวิชาชีพ ในระหว่างที่กำลังศึกษา เทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศไทย และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน จัดทำหลักสูตรทวิวุฒิ ไทย-จีน พร้อมจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สร้างโอกาสให้ประชาชนได้เพิ่มและพัฒนาทักษะใหม่ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส กว่า 2,955 ล้านบาท ช่วยแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน ให้เด็กและเยาวชนได้กินดี มีความสุข พร้อมจัดตั้งศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียนรู้ และโดยมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ เพื่อให้เด็กที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล มีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

การบรรเทาภาระค่าใช่จ่ายด้วยการการยกเว้น ผ่อนผันแต่งเครื่องแบบ และรองเท้าของนักเรียน คำนึงการลดภาระค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะทำให้ “การเปิดเทอม สุขใจ” และโครงการสุขาดี มีความสุข เพื่อเป้าหมายให้ห้องน้ำทุกที่ สะอาด สะดวก ถูกสุขลักษณะ สวยงาม ครูและ นักเรียนใช้ร่วมกันได้ พร้อมทั้งปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักการใช้ บำรุง ดูแล และรักษาอย่างถูกวิธี

ความร่วมมือด้านการศึกษา

ภายใต้แนวคิด “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ทั้งความร่วมมือกับนานาชาติ ในกรอบพหุภาคี และทวิภาคี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับนานาประเทศ และนำเสนอนโยบาย แนวทางขับเคลื่อนการศึกษา ส่งเสริมการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคและระดับโลก ความร่วมมือระดับชาติ มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศให้สามารถดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนยกระดับผลประเมิน PISA ในทุกมิติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบตามแนวทางการสอบPISA  นอกจากนี้ได้มีการจัดทำแผนการขยายผลการอบรมและพัฒนาครูสร้างข้อสอบตามแนวปีซ่าในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งอยากเน้นให้เกิดคุณภาพทางการศึกษา โดยเป้าหมายต้องไม่มีเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการวัดและประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยจะต้องสร้างแรงจูงใจในการทำข้อสอบPISA ให้ได้มากที่สุด รวมถึงพัฒนาข้อสอบระดับชาติ ทั้งการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ไปจนถึงการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย โดยปรับเปลี่ยนแนวข้อสอบเน้น การคิดวิเคราะห์ เช่นเดียวกับการสอบPISA เพื่อให้เด็กและครูมีความเคยชิน เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสมรรถนะครู และนักเรียนในทุกมิติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินในรอบถัดไป

แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

อีกหนึ่งนโยบายสำคัญ ที่ กระทรวงศึกษาธิการ เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือ การติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา ตามโครงการ THAILAND Zero Dropout โดยข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ล่าสุด พบว่ามีเด็กนอกระบบการศึกษาจำนวน 1,025,514 คน ติดตามแล้วเกือบครบ100% สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในประเทศแล้วหลายแสนคน

ทั้งนี้ ศธ. มีนโยบายเร่งติดติดตามเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด โดยตั้งเป้าในปีการศึกษานี้ต้องไม่มีเด็กหลุดจากระบบ และในปีการศึกษาหน้า ในเรื่องการติดตามเด็กน่าจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองในพื้นที่ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ครูมีหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียวทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในภารกิจพัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างคน พัฒนาประเทศ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำ ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังคงเดินหน้าสานต่องานพัฒนาการศึกษาอย่างมุ่งมั่น ในปีที่ 134 และปีต่อ ๆ

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 1 เมษายน 2568
โดยกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

The post ครบรอบ 133 ปี กระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าพัฒนาการศึกษา พัฒนาประเทศ appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.

Share This Article

Related Post