ผลการคัดเลือกผู
หนังสื~1 The post ผลการคัด...
กระทรวงศึกษาธิการ – 13 ธันวาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) พร้อมด้วยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยมีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ผู้บริหาร ศธ. ตลอดจนผู้บริหารจากภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม เข้าร่วม ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา
รมว.ศธ. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นมิติการดำเนินงานด้านการศึกษา ต้องขอขอบคุณสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรของประเทศไทย เป็นการต่อยอดแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สานต่อการดำเนินงานร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะมีประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษา พัฒนาบุคคล การจัดการอบรมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีความรู้ การพัฒนาด้านวิชาการ ปรับปรุงหลักสูตรที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ด้านการเงินและการบริหารงบประมาณ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ และการดำเนินงานที่มีประโยชน์ต่อการศึกษา เพื่อผู้เรียนและประเทศชาติ
เพราะ “การศึกษา” คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ การพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อย่างที่พูดไว้เสมอว่าเครือข่ายทางการศึกษา “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” จะร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อสร้างต้นแบบของการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน
ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” ที่ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ความตั้งใจของทุกภาคส่วนนับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้โรงเรียนในโครงการฯ มีศักยภาพที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับเยาวชนไทยซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
“เชื่อมั่นว่าโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย เด็กและเยาวชนจะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในการพัฒนาตนเอง และมีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในระยะยาว ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม “จับมือ ร่วมพัฒนา ขยายผล” ยกระดับการศึกษาในระดับประเทศ และเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาที่ครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นพลังนำพาการศึกษาไทยให้ก้าวไปทัดเทียมนานาอารยประเทศต่อไป”
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) เป็นการร่วมมือกันในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยนำนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษา ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม พัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างทุนมนุษย์เหล่านั้นให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
ความร่วมมือในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ที่มีความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยการสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีมีการขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการคือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อสร้างนวัตกรรมและศักยภาพในการแข่งขัน ปลูกฝังความเข้าใจที่ถูกต้อง พัฒนาการทำงานเชิงรุกสมัยใหม่ โดยมีภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม เข้ามามีส่วนร่วมในทุกมิติ
เพื่อการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก มีการสื่อสาร ถ่ายทอดความเข้าใจที่ถูกต้อง การส่งเสริมการเรียน โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่เกี่ยวกับ STEM : Science Technology Engineering and Mathematics (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) เป็นทักษะที่ต้องการของตลาดแรงงาน พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การฝึกงานในสถานที่จริงเพื่อฝึกประสบการณ์ จบมาแล้วสามารถทำงานได้ทันที สิ่งสำคัญคือต้องเร่งพัฒนาให้เร็วและทันต่อการพัฒนาของประเทศเพื่อนำไปสู่โลกอุตสาหกรรม เพื่อ “สร้างโอกาส สร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ ของประเทศไทย”
สำหรับแนวทางความร่วมมือภาครัฐและเอกชนที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษา ด้วยการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเพื่อ Upskill & Reskill ทักษะแรงงานที่จำเป็น การส่งเสริมการทำวิจัยตามความต้องการของสถานประกอบการ การจัดการศึกษาแบบสหกิจศึกษา ให้นักศึกษาฝึกงานในสถานประกอบการจริง รวมทั้งใช้องค์ความรู้ด้านนวัตกรรม บ่มเพาะให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ เชื่อมโยงกับการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะช่วยเหลือดูแลให้ธุรกิจเข้มแข็ง
“ด้วยความร่วมมือดังกล่าว ศธ. และเรา จะสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่มีคุณภาพ โดยพัฒนาระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมทั้งสามารถพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพ มีทักษะที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ผ่านเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับให้ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล มีศักยภาพ มีความพร้อม จนสามารถยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว – กราฟิก
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
The post กระทรวงศึกษาธิการ จับมือ สภาอุตสาหกรรมฯ MOU “โรงเรียนร่วมพัฒนา” ยกระดับการศึกษาไทย สู่อนาคตที่เท่าเทียมยั่งยืน appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.