คุรุสภาแถลงข่าว
28 สิงหาคม 2567 ที่สำนัก...
25 กันยายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 33/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting
การติดตามสถานการณ์น้ำท่วมของหน่วยงานและสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ
ข้อมูลสรุปการขอรับความช่วยเหลือจากปัญหาอุทกภัยของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขณะนี้มีสถานศึกษาได้รับความเสียหาย 235 แห่ง สถานที่ทำงานเสียหาย 7 แห่ง ศธ.จึงกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูหน่วยงาน/สถานศึกษา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ได้แก่
มาตรการที่ 1 การช่วยเหลือเยียวยานักเรียน นักศึกษา (ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง) โดยให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ประกอบด้วย นักเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและศูนย์การศึกษาพิเศษ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) นักเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) (ยกเว้มสถานศึกษาที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐและกลุ่มสถานศึกษานานาชาติ) นักศึกษาในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการการอาชีวศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน และผู้เรียนในสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ในอัตราเงินอุดหนุนรายหัว (ค่าหนังสือ ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าอุปกรณ์การเรียน) ของโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
มาตรการที่ 2 การช่วยเหลือฟื้นฟูหน่วยงาน/สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย เพื่อฟื้นฟูหน่วยงาน/สถานศึกษาให้กลับสู่สภาพปกติ สามารถปฏิบัติงานและจัดการเรียนการสอนได้ ทั้งในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขันพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เพื่อฟื้นฟู ซ่อมเชม อาคาร สถานที่ ของหน่วยงาน/สถานศึกษา วัสดุอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงสภาพภูมิทัศน์ ถนน หรือพื้นที่ในบริเวณสถานศึกษาที่ใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอน
แนวทางปฏิบัติ
1. เพื่อเป็นการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองในระหว่างสถานการณ์อุทกภัยยังไม่คลี่คลาย
– โรงเรียนประกาศจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่ โดยคำนึงถึงถึงความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ
– เพื่อลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครอง ระหว่างประสบอุทกภัยและรอน้ำลดเห็นควรให้โรงเรียนพิจารณาให้นักเรียนแต่งกายมาโรงเรียนได้ตามความเหมาะสม
– เพื่อแก้ปัญหาหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียนและเครื่องแบบนักเรียนที่ได้รับความเสียหาย หรือสูญหายจากเหตุอุทกภัยให้โรงเรียนสำรวจความเสียหายและแจ้งให้ต้นสังกัดทราบ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการจัดหาหนังสือเรียน และเครื่องแบบนักเรียน โดยระบุจำนวนผู้ได้รับความเสียหายและระดับชั้นเรียน
2. การประเมินระดับความเสียหายของหน่วยงาน สถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย เพื่อการช่วยเหลือ ฟื้นฟู แบ่งเป็น 3 ระดับ
สีแดง ส่งผลต่อโครงสร้างอาคาร ไม่สามารถใช้งานได้
สีเหลือง ส่งผลต่ออาคาร แต่เปิดใช้งานได้/ใช้ได้บางส่วน
สีเขียว ไม่ส่งผลต่ออาคาร ใช้ได้ปกติ
ทั้งนี้ การประเมินระดับความเสียหายตามเกณฑ์ที่กำหนด หากสถานศึกษาใดมีผลการประเมิน 2 ส่วน ครบทุกข้อให้ระบุสีตามเกณฑ์ที่กำหนด และในกรณีที่สถานศึกษามีผลการประเมินบางข้อปรากฏในระดับสีแตกต่างกันให้พิจารณาจัดอยู่ในระดับสีที่หนักสุด
นอกจากนี้พี่น้องลูกเสือ และบุคลากรทางการลูกเสือ เตรียมจัดกิจกรรม “ศธ.จิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์เพื่อฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ” ในวันที่ 28 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ศูนย์พัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจกรรมเยาวชน จังหวัดเชียงราย (บ้านริมกก ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย) โดยร่วมกันทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เช่น กิจกรรมล้างโคลน เก็บกวาดทำความสะอาด บริจาคสิ่งของ ซ่อมแซมอาคารภายในศูนย์ และบริการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ประชาชน เป็นต้น
ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของ สพฐ. และ สสวท.
ดร. เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นำเสนอผลการขับเคลื่อน สพฐ. โดยยกตัวอย่างการติดตามถอดบทเรียนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเขตพื้นที่ ฯ ในสถานศึกษา สพม.สงขลา สตูล, สพม.ตาก และ สพม.นครพนม ที่ได้นำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ฯ มาใช้ในห้องเรียน ขณะนี้การใช้งานครอบคลุมประมาณ 3-4 เรื่อง โดยแผนในเทอมที่ 2 จะเพิ่มการใช้งานให้ครบ 6-8 เรื่องต่อระดับชั้นตามเป้าหมายของบอร์ด PISA เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน
จากการติดตามผลการดำเนินการสะท้อนว่าเขตพื้นที่ฯ สามารถใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ได้ 100% ในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งช่วยให้นักเรียนสามารถทำข้อสอบที่เน้นการอ่านและการวิเคราะห์ได้ดีขึ้น โดยหลายโรงเรียนได้ขยายผลการใช้เกมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในห้องเรียน เช่น โรงเรียนใน สพม.นครพนม ที่ใช้ Gamification ในห้องเรียนเพื่อส่งเสริมการคิดและการเรียนรู้ สร้างห้องเรียนคุณภาพ ส่งเสริมการวิเคราะห์และการตีความ
การพัฒนาผ่านการวิเคราะห์ผลสอบและการอ่าน เขตพื้นที่ฯ ติดตามผลการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นพื้นฐาน พบว่าข้อสอบที่เน้นบทความช่วยให้นักเรียนฝึกทักษะการอ่าน การตีความ และการคิดเชิงวิเคราะห์ ส่งผลให้นักเรียนสามารถสอบได้คะแนนเต็มในบางวิชา เช่น คณิตศาสตร์
ด้าน สพม.ตาก ได้เน้นการส่งเสริมการคิดวิเคราะห์และการอ่านเพิ่มขึ้น รวมถึงคณะครูได้มาร่วมกันวางแผนแก้ไขและพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งผลการติดตามพบว่านักเรียนเริ่มมีทักษะการวิเคราะห์และการคิดที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งนี้เขตพื้นที่ฯ ได้จัดทำแผนการดำเนินงานเพิ่มเติมในภาคเรียนที่ 2 เพื่อให้สามารถใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ได้ครบทุกเรื่องในแต่ละระดับชั้น ซึ่งจะติดตามผลการดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์
ในส่วนของโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ด้วยความร่วมมือระหว่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (โรงเรียนพี่) และโรงเรียนสังกัดสํานักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (โรงเรียนน้อง) 52 แห่ง ดำเนินการตาม MOU โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนตามแนวทาง Learn to Earn เพิ่มการ และ QC เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่เกิดประโยชน์ต่อชีวิตของนักเรียน ซึ่งแม้จะมีการเสริมความเข้มข้นในการดำเนินการ แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของโรงเรียนน้องไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผอ.สสวท. นำเสนอร่างแผนการจัดอบรมครู (ครูแม่ไก่) เพื่อสร้างให้เป็นนักสร้างข้อสอบตามแนวมาตรฐานสากล ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 3 วิชา วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาไทย ในรูปแบบผสมผสาน ทั้งออนไลน์และออนไซต์ หลักสูตร 5 วัน ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 จำนวน 8 รุ่น ๆ รุ่นละ 40 คนต่อวิชา รวม 960 คน จากนั้นจะขยายการอบรมสู่ครูระดับมัธยมศึกษาทุกสังกัดต่อไป
ขณะเดียวกัน สสวท. ยังได้ติดตามการประชุมการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยชุดพัฒนาความฉลาดรู้ และ Computer Based Test ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาสังกัด สช. ในส่วนภูมิภาคและ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการขับเคลื่อนในระดับสถานศึกษาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสังกัดกรุงเทพมหานคร
รมว.ศธ. ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ควรจัดทำคู่มือและบันทึกเทปในการสร้างข้อสอบตามแนวมาตรฐานสากล แก่ครูคนอื่น ๆ อย่างมีคุณภาพ ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime พร้อมจัดอบรมแบ่งเป็น 4 ช่วงชั้นการศึกษา และเรียงลำดับความยากง่ายของข้อสอบในแต่ละช่วงชั้นการศึกษา เพื่อพัฒนาการสร้างข้อสอบแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามนโนบายเรียนดี มีความสุข
การติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการใช้จ่ายงบประมาณสูงสุดของหน่วยงานทั้งหมด 24 หน่วยงาน โดย รมว.ศธ. ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมมือร่วมใจกันดำเนินงานอย่างยอดเยี่ยม ส่วนที่ยังขาดไปให้ใช้เป็นบทเรียนในการดำเนินงานปีต่อไป
การประชุมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เสนอ ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนกว่า 738 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดการเรียนการสอน โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยให้เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุนเงินอุดหนุนทั่วไป
รวมทั้งการปรับปรุงกฎและระเบียบในการปฏิบัติราชการ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วทันการณ์ โดยให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่มีหน่วยงานในภูมิภาค มอบอำนาจให้หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัยสามารถพิจารณาตัดสินใจในเรื่องใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อการป้องกัน และแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ต้องประสบกับภัยธรรมชาติให้เท่าทันสถานการณ์ เช่น กรณีการปิดโรงเรียนของ ศธ. และให้สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เช่น ก.ค.ศ. พิจารณาความจำเป็นเหมาะสมและความเป็นไปได้ ในการออกกฎ ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติเพื่ออนุญาตให้บุคลากรในสังกัด สามารถเดินทางไปให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติได้ตามความจำเป็นเหมาะสมและความสมัครใจ โดยไม่ถือเป็นวันลา
‘อรรถพล’ เข้าร่วมประชุมฯ ในตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเกษียณอายุราชการ
นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นตัวแทนผู้เกษียณอายุราชการ กล่าวขอบคุณที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ทีมผู้บริหารทุกท่าน รวมถึงข้าราชการทุกคน ที่ผ่านมารู้สึกอบอุ่นใจเป็นอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกัน ขอบคุณ รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. ที่ดูแลข้าราชการทุกคนในกระทรวงศึกษาธิการด้วยความเมตตาและใส่ใจ ขอบคุณสำหรับข้อคิดและแนวทางการทำงานที่ได้รับตลอดระยะเวลาในการทำงาน หากสิ่งใดที่ทำหรือกล่าวไปผิดพลาดในระหว่างที่ทำงานร่วมกัน ก็ขออภัยทุกท่านจากใจจริง
โอกาสนี้ รมว.ศธ. ได้กล่าวอวยพรให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ที่เกษียณอายุราชการในปีนี้ว่า
“เมื่อเกษียณอายุราชการ ทุกท่านเปรียบเสมือนเทียนที่ละลายไป แต่ยังคงส่องแสงสว่างไสว ธรรมชาติของเทียน อาจมีลมพัดบ้าง แสงวูบวาบบ้าง แต่เทียนก็ยังคงส่องสว่างให้โลก ประเทศชาติ และสังคมไทยต่อไป ขอขอบคุณทุกคุณความดีของท่าน”
ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว
พีรณัช ยุชยะทัต/ถ่ายภาพ
The post ศธ.เร่งฟื้นฟูภัยน้ำท่วมทุกมิติ ‘เพิ่มพูน’ อวยพรผู้เกษียนฯ เปรียบเป็นเทียนส่องสว่างให้โลก ประเทศชาติ และสังคมไทย appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.