กระทรวงศึกษาธิก
10 กันยายน 2567 / พลตำรวจ...
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมความรู้ทางการเงินผ่านระบบการศึกษา ระหว่างนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อผลักดันความรู้ทางการเงินเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนากรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับภาคการศึกษา (Financial Competency Framework for Educational Purpose) รวมถึงเป็นแนวทางกำหนดการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมแก่นักเรียนแต่ละระดับชั้นการศึกษา อีกทั้งยังได้กำหนดเนื้อหาความรู้ทางการเงินที่จำเป็นและสำคัญ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร เครื่องมือและสื่อการสอนต่าง ๆ ตลอดจนผลักดันให้เกิดเครือข่ายครูแกนนำที่เข้มแข็ง เพื่อยกระดับและส่งต่อความรู้ทางการเงินภายในสถานศึกษาได้ในวงกว้างและยั่งยืน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและเครือข่ายสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ประสบผลสำเร็จตามบันทึกข้อตกลงนี้
ทั้งนี้ การประสานความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมความรู้ทางการเงินผ่านระบบการศึกษาของ 6 หน่วยงาน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในภาคการศึกษา ที่จะปลูกฝังให้เยาวชนสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม เสริมทักษะชีวิตที่สำคัญแก่กำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ให้มีความรู้ ทักษะ และค่านิยมทางการเงินที่ถูกต้อง ครอบคลุมการมีเป้าหมายทางการเงินที่เหมาะสม มีเงินออมและประกันภัยเพื่อคุ้มครองตนเองเวลาฉุกเฉิน มีการลงทุนที่เพียงพอ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในทุกช่วงวัยจนถึงวัยเกษียณ มีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม รู้จักเป็นหนี้เท่าที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงมีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันจากภัยทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี (financial well-being) และช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป
The post ศธ. ร่วม MOU ส่งเสริมความรู้ทางการเงินผ่านระบบการศึกษา ปลูกฝังค่านิยมให้เด็กไทยมีทักษะชีวิตอย่างยั่งยืน appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.