รองปลัด ศธ. “ธนู”
22 มีนาคม 2567/ นายธนู ขว...
ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า เห็นได้จากการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของบุหรี่ไฟฟ้าที่เลียนแบบของเล่นเด็ก ของใช้หรือของกินที่เด็กและเยาวชนนิยมหรือคุ้นเคย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่น และรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากทดลองและใช้บุหรี่ไฟฟ้า
ตลอดทั้งการสร้างการรับรู้ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เพราะบางคนคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม แต่ความจริงแล้วก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน และเป็นเรื่องน่ากลัวเมื่อเยาวชนหลายคนอาจจะติดกับดักภาพลักษณ์ที่คิดไปเองว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะดูเท่ ซึ่งทำให้ตกเป็นเหยื่อจากกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย
จากรายงานของกรมการปกครอง มีการจับกุมผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่วัยรุ่นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าเกิดการใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้เห็นว่าปัญหานี้กำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคมและสุขภาพของเด็ก ๆ รวมถึงผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ Global Youth Tobacco Survey : GYTS ปี พ.ศ. 2565 ของประเทศไทย ในกลุ่มนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 13-15 ปี พบว่า เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.3 เท่า
ข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่สามารถมองเป็นเรื่องเล็กน้อยได้ เพราะเกิดผลกระทบต่อการเรียนการสอน และพัฒนาการที่ดีของเยาวชน ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการต้องมีนโยบายในการปราบปรามปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสุขภาพและอนาคตของเยาวชนไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ประกาศจัดกิจกรรม “สัปดาห์แห่งการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก (31 พฤษภาคม) เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย ปลอดจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ให้เด็กทุกคน “เรียนดี มีความสุข” อย่างแท้จริง ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดวิธีการแก้ไขการแพร่ระบาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
1. จัดทำนโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่เป็นลายลักษณ์อักษร ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางที่หลากหลาย
2. จัดตั้งคณะทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ สำรวจข้อมูลการสูบบุหรี่ในโรงเรียน
3. ติดเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่ให้เห็นชัดเจนบริเวณทางเข้าโรงเรียนทุกช่องทาง
4. วางแผนและกำหนดกิจกรรมสอดแทรกเรื่องบุหรี่ทั้งในและนอกหลักสูตร
5. ส่งเสริมกิจกรรมร่วมรณรงค์ให้นักเรียนป้องกันการสูบบุหรี่ทั้งในและนอกโรงเรียน และร่วมรณรงค์บ้านและชุมชนปลอดบุหรี่
6. จัดเวรยามครูทั้งในและนอกโรงเรียนเพื่อเฝ้าระวังในสถานที่เปลี่ยวร่วมกับตำรวจ และเชิญผู้ปกครองนักเรียนมาพูดคุย
7. จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักร่วมกับชุมชน ผลักดันให้ผู้นำชุมชนมีนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานชุมชนปลอดบุหรี่ พร้อมชี้แจงและขอความร่วมมือร้านค้าในชุมชนไม่ขายบุหรี่ให้กับนักเรียน
นอกการการสกัดกั้นบุหรี่ไฟฟ้าไม่ให้ถึงตัวเด็กอย่างเข้มข้นของภาครัฐแล้ว ครอบครัวและบ้านยังเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้ามาช่วยกันปกป้องลูกหลานของเราได้อีกทางด้วย จึงขอแนะนำผู้ปกครองเกี่ยวกับ 4 วิธีสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานที่อาจมีการใช้หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า ดังต่อไปนี้
1. มีกลิ่นหอมติดตัวโดยหาต้นตอของกลิ่นไม่ได้
2. ใช้เงินมากขึ้นกว่าปกติ หรือซื้อของที่ไม่สามารถบอกได้ว่าคืออะไร
3. พบผลิตภัณฑ์ หรืออุปกรณ์การเรียนที่ไม่คุ้นเคยในกระเป๋าหรือในห้องนอน เช่น ปากกา หรือแฟลชไดรฟ์
4. สังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงอาการกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย อารมณ์ฉุนเฉียว ซึ่งเป็นผลมาจากการติดนิโคติน
ขณะเดียวกันผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง พูดคุยแนะนำ หรือให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่บุตรหลานในครอบครัวเกี่ยวกับโทษ พิษภัย อันตราย และผลกระทบของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นการสร้างเกราะป้องกันตนเองจากบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในครอบครัว ด้วยการไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อป้องกันสมาชิกในครอบครัวไม่ให้ได้รับไอหรือควันจากบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้นแบบที่ดีแก่บุตรหลานด้วย
เรียบเรียงโดยกลุ่มผลิตเนื้อหาประชาสัมพันธ์ กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สป.ศธ.
ขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
The post “วัยรุ่นกับบุหรี่ไฟฟ้า” เมื่อความสนใจกลายเป็นอันตราย บุหรี่ไฟฟ้าเปลี่ยนโฉมดูสดใส ไล่ตามจับยากขึ้น การป้องกันจึงต้องเริ่มจากที่บ้านจนถึงโรงเรียน appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.