รองปลัด ศธ. “พิเช
เมื่อวันที่ 7 สิงหาค...
รมช.ศธ. ‘สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล’ นำผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่ ครม.สัญจร ที่จังหวัดเพชรบุรี รับฟังปัญหาและแก้ไขอย่างจริงจัง เล็งปรับวิธีการจ่ายเงินอุดหนุน รร.ขนาดเล็ก พร้อมหาทางแก้ไขปัญหา “ลิง” บุกโรงเรียน
ภาพเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/share/p/AJ1E6teEuXFxEtGa/?mibextid=oFDknk
13 พฤษภาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายส่วนราชการทางการศึกษา ติดตามข้อมูลการจัดการศึกษาระดับพื้นที่ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง (จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม) ณ วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
รมช.ศธ. กล่าวในการมอบนโยบายว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ฝากและเน้นย้ำมาคือ การมารับฟังปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขอขอบคุณศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ที่ได้นำเสนอปัญหาในพื้นที่ และยังได้เสนอแนะวิธีแก้ไขที่สามารถเป็นไปได้ด้วย เป็นการทำงานเชิงรุกที่ดีมาก
ทั้งนี้ รมว.ศธ. ได้กล่าวอยู่เสมอว่า “การทำงานของเราจะไม่เป็นผักตบที่ลอยน้ำ ต้องปรับตัวให้เป็นเรือที่วิ่งทวนน้ำ” ดังนั้น ศธ.ยุคใหม่นี้จะเน้นการรับฟังมากขึ้น พยายามหาทางแก้ปัญหาให้ได้ ซึ่งคำกล่าวของ รมว.ศธ. ก็ได้จุดประกายทำให้เรามีไฟในการขับเคลื่อนงานมากยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมาเรามีนโยบายที่เป็นรูปธรรม เช่น การยกเลิกครูเวร การจ้างนักการภารโรงทุกโรงเรียน อาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีโรงเรียนขยายโอกาสมา และ รมว.ศธ. ก็ได้เน้นย้ำการทำงานลดภาระครู “โดยต่อไปนี้ทุกนโยบายที่ออกมาจะไม่เป็นการเพิ่มภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาในส่วนที่ไม่ใช่เนื้องานโดยตรง เราจะไม่ให้งานเหล่านั้นไปลดประสิทธิภาพในการสอนของท่าน รมว.ศธ. พูดเสมอว่า ก่อนหน้าที่พวกเราจะเข้ามา ศธ. ก็สามารถอยู่ได้ ดังนั้นเมื่อเราเข้ามารับตำแหน่งแล้ว เราจะทำทุกอย่างเพื่อช่วยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานได้สะดวกขึ้น มีความสุขขึ้น”
สำหรับคำว่า “เรียนดี มีความสุข” ก็เป็นคำที่สั้นและเข้าใจง่าย เพียงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาได้มีความสุขร่วมกัน นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับเรื่องขวัญและกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างมาก เรื่องสำคัญก็คือระบบ TMS จับคู่ครูคืนถิ่นที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ตั้งใจคิดและทำเพื่อประโยชน์ของครูอย่างแท้จริง ตลอดจนการปรับขึ้นเงินเดือนครูเดือนพฤษภาคมนี้ ขอยืนยันว่าจะไม่มีการตกเบิก สิ้นเดือนนี้จะได้รับเงินเดือนในอัตราใหม่อย่างแน่นอน
ส่วนเรื่องแก้หนี้ครู ก็ต้องขอขอบคุณสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้ร่วมกันอย่างแข็งขัน มีการติดตามอย่างจริงจัง ทำให้การแก้ปัญหานั้นเกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สำหรับในส่วนกลางนั้นมีการเจรจาดำเนินการสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลอยู่ตลอด รวมถึงการลดดอกเบี้ยเราก็มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูบางจังหวัดก็เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยให้แล้ว ขอขอบคุณมาในโอกาสนี้ด้วย ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามาให้ความรู้กับบุคลากรของเรา ทำให้การดำเนินการลดดอกเบี้ยเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น และยังเชิญโค้ชหนุ่ม “จักรพงษ์ เมษพันธุ์” หรือหนุ่ม Money Coach มาอบรมให้ความรู้ที่ ศธ. สร้างความเข้าใจแนวทางการบริหารการจัดการด้านการเงินให้บุคลากรของเรา อย่างไรก็ตามหนี้จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อคนเป็นหนี้อยากหมดหนี้ เปิดใจร่วมมือกัน ไม่ปิดบังข้อมูลต่อกัน
นอกจากนี้ จะมีการเตรียมเรื่องของเงินอุดหนุนโรงเรียนขนาดเล็ก โดยผู้บริหาร ศธ. มีแนวคิดร่วมกันเรื่องการปรับแก้เงินอุดหนุนรายหัวให้กับเด็ก ต้องยอมรับว่ามีการวิจัยออกมาว่าการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวในปัจจุบันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งการปรับเปลี่ยนเงินอุดหนุนรายหัวน่าจะช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้ ด้วยการอุดหนุนเงินก้อนให้กับโรงเรียนขนาดเล็กไปเบื้องต้นก่อน จากนั้นค่อยอุดหนุนรายหัวเพิ่มเข้าไป ซึ่งโรงเรียนขนาดใหญ่อาจจะไม่ต้องมีเงินตรงนี้เพราะโรงเรียนขนาดใหญ่มีต้นทุนมาก สามารถบริหารจัดการได้ทันที เช่น โรงเรียนที่มีเด็ก 3,000 คน กับโรงเรียนที่มีเด็ก 60 คน การบริหารจัดการจะไม่เหมือนกันเลย ในขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กมีเงินแทบไม่พอจ่ายในการดูแลรักษาโรงเรียน ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ไม่พอ แต่โรงเรียนขนาดใหญ่สามารถเหลือไปทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย
“ศธ. จะให้ความสำคัญกับปฐมวัยและเด็กอนุบาลมากขึ้น เนื่องจากเป็นรากฐานที่สำคัญของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งโอกาสที่เราจะบรรลุเป้าหมายนี้ก็คงต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยต้องหารือกับหลายฝ่ายว่าจะสามารถใช้งบประมาณของปีไหนได้ คงไม่ถึงขั้นต้องของบกลาง เพียงแต่ว่าถ้าเรามีผลการศึกษาเรื่องนี้อย่างชัดเจน ส่งให้สำนักงบประมาณได้พิจารณา เชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทุกท่านจะเห็นด้วย และหากเรามีความพร้อมก็น่าจะดำเนินการต่อไปได้” รมช. ศธ. กล่าว
ด้านนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ อยากให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพจริง ๆ เพราะหากมีโรงเรียนคุณภาพได้ครบทุกอำเภอ ก็อาจขยายลงไปยังโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลต่อไปได้ และในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะเริ่มการจัดแพลตฟอร์มเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่จะรองรับอุปกรณ์เสริมการสอนของครูและนักเรียนในปี 2568 ขณะนี้มีกลุ่มบริษัทด้านไอทีระดับโลกให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมมือด้วยแล้ว ซึ่งการแจกอุปกรณ์เสริมการสอนนั้นยังไม่กำหนดว่าจะเป็นการแจกแท็บเล็ต แล็ปท็อป แต่จะเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยพร้อมกับการใช้งานระบบ Wi-Fi ที่ไม่เป็นภาระให้แก่โรงเรียน และจะเป็นระบบของการเช่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าก็สามารถคืนอุปกรณ์ได้ทันทีโดยไม่กลายเป็นขยะไอที
รมช.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบาย “สุขาดี มีความสุข” ขอให้ปฏิบัติในทุกหน่วยของ ศธ. ไม่ใช่เฉพาะสถานศึกษาเท่านั้น ซึ่งถ้าสุขานักเรียนกับครูสะอาดเหมือนกัน ครูก็ใช้ร่วมกับนักเรียนได้ โดยแนวปฏิบัตินี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของโรงเรียน แต่มาตรฐานความสะอาดของห้องน้ำครูและนักเรียนต้องเท่ากัน โดยส่วนตัวแล้วมีข้อคิดเห็นว่า “ถ้าเราเรียกนักเรียนว่าลูก เราก็ต้องสามารถใช้สุขาเดียวกับลูก กับครอบครัวของเราได้” ทั้งนี้ขอฝากเขตพื้นที่ฯ สำรวจเพิ่มเติมในโรงเรียนที่ยังมีปัญหา ไม่สามารถรีโนเวทห้องน้ำตามนโยบาย “สุขาดี มีความสุข” ได้ ให้ทำเรื่องของบประมาณเข้ามา โดยทาง ศธ. อาจจะพิจารณานำเงินเหลือจ่ายปีงบประมาณ 2567-2568 มาใช้ในการจัดการเรื่องสุขาให้ได้
จากนั้นช่วงบ่าย รมช.ศธ.และคณะได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนพรหมานุสรณ์ อ.เมือง และโรงเรียนวัดกุฏิ (นันทวิเทศประชาสรรค์) อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เพื่อติดตามการบริหารจัดการเรื่องลิง โดยสภาพปัญหาปัจจุบันของโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขาวัง ได้รับผลกระทบจากลิงแสมที่มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ชุมชนเมือง แย่งชิงอาหาร ทำลายข้าวของ รบกวนมนุษย์ จนโรงเรียนต้องมีวิธีรับมือเบื้องต้นด้วยการจัดเวรยามเฝ้าในบริเวณหลังโรงเรียน 2 คน ป้องกันการคุ้ยเขี่ยอาหารของลิงที่มากันในช่วงเช้า เที่ยง และหลังเลิกเรียน รวมถึงการแย่งชิงอาหารจากนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้มาติดต่อราชการ และการทำลายทรัพย์สินของโรงเรียน เช่น รื้อหลังคา โหนดึงสายไฟและสายสัญญาณต่าง ๆ ได้รับความเสียหายเป็นต้น
รมช.ศธ. กล่าวว่า วันนี้ได้เห็นปัญหาโดยเฉพาะเรื่องของลิงที่มางัดแงะทำลายอาคารสถานที่ สร้างความเดือดร้อน เป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียนและบุคลากร ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นจะลุกลามไปเรื่อย ๆ โดยทาง สพฐ. และ สอศ. ได้พูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหานี้ พบว่าการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาจากลิงนั้น ศธ. อาจไม่สามารถแก้ไขเองได้โดยลำพัง เนื่องจากลิงเป็นสัตว์คุ้มครอง จะดำเนินการอะไรก็ต้องขออนุญาตก่อน ดังนั้นต้องมีการประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าเราจะสามารถจัดการกับลิงอย่างไรได้บ้าง ในแง่ของกฎหมาย หรือการขอความร่วมมือในการมาจับ แล้วเอาไปปล่อยที่สวนสัตว์หรือวิธีทางใดก็ตาม การทำหมัน การคุมกำเนิด การขนย้ายหรือย้ายถิ่นฐาน ก็ต้องประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง
แต่ในส่วนของความรับผิดชอบที่ ศธ. ทำเองได้ก็คือจัดสรรงบประมาณมาซ่อมแซมอาคารที่เสียหาย วันนี้วิศวกรของ สพฐ. ได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารด้วย ซึ่งการซ่อมแซมจะต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำซาก เช่น หลังคาเดิมเป็นกระเบื้องทำให้มีรอยต่อ ลิงจึงสามารถงัดและทำให้แตกได้ ทำให้เกิดรอยรั่ว เมื่อฝนตกน้ำก็ซึมทำให้ฝ้าและโครงสร้างพังเพิ่มเติมเข้าไปอีก ดังนั้นการแก้ไขก็ต้องใช้วัสดุที่คงทน และลิงไม่สามารถสร้างความเสียหายได้เหมือนเดิม ทั้งนี้เราจะให้นักศึกษาของศูนย์ fix it Center สอศ. มาช่วยกันดูแลเบื้องต้น โดยการติดลูกกรงหรือตาข่ายเพื่อไม่ให้ลิงสามารถเข้าไปทำลายทรัพย์สินในห้องเรียนได้ นอกจากนี้โรงเรียนยังมีหลักสูตรในการปฐมนิเทศเด็กก่อนจะเปิดเรียนทุกปีการศึกษา สอนนักเรียนให้รู้จักพฤติกรรมของลิง และข้อควรระวังต่าง ๆ
สำหรับอาคารของโรงเรียนวัดกุฏิ (นันทวิเทศประชาสรรค์) ที่ถูกลิงทำลายหลังคาและห้องเรียนจนพัง ในช่วงเปิดเทอมนี้เราก็จะย้ายนักเรียนมาเรียนที่ห้องสมุดเดิม และห้องประชุมไปก่อน ระหว่างที่ของบประมาณและซ่อมแซมอาคารเรียน เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็จะได้กลับไปเรียนที่อาคารเดิม และขอฝากไปยังผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกแห่งด้วยว่า อาคารสถานที่ใดที่ชำรุดไม่พร้อมเปิดใช้งาน มีความเสียหาย จำเป็นต้องใช้งบประมาณซ่อมแซม ก็ขอให้รีบดำเนินการทำเรื่องเข้ามา เพื่อเร่งซ่อมแซมให้เกิดความปลอดภัยและเกิดประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาให้มากที่สุด
ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว
ณัฐพล สุกไทย/ถ่ายภาพ
The post รมช.ศธ. ‘สุรศักดิ์’ ลงพื้นที่ ครม.สัญจร ที่เพชรบุรี appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.