ผู้ช่วยรัฐมนตรี
จังหวัดจันทบุรี 2 เม...
18 มีนาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ประจำนายอนุทิน ชาญวีรกูล), นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ., นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ., นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ., นายภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา, นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ., นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการ กอศ., นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดี สกร., นายพิเชฐร์ วันทอง รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. และนายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กช. เดินทางไปวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย เพื่อร่วมกับ รมว.ศธ. เยี่ยมชมผลงานนักศึกษา และพบปะผู้บริหารการศึกษาของจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ทั้งในห้องประชุมและระบบออนไลน์ โดยได้กล่าวตอนหนึ่งว่า
“ถึงแม้จะมีคนบอกว่า รมว.ศธ.และ รมช.ศธ. เป็นรัฐมนตรีที่โลกลืม แต่ผมมั่นใจว่าครูจะไม่ลืม วงการศึกษาจะคิดถึงเรา ปัญหาหลายอย่างที่ไม่เคยแก้ไขได้ ก็จะแก้ได้ในยุคเรา ขอเป็นกำลังใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน และยืนยันว่าเราจะช่วยแก้ปัญหาให้ได้ เราจะจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน”
จากนั้น รมช.ศธ. และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุม ครม.สัญจร ณ โรงเรียนวัดพระเกิดคงคาราม อ.เทิง จ.เชียงราย โดยมี ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผอ.โรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ ในการนี้ นางกัญจนา สัตตรัตนำพร ผอ.สพป.เชียงราย เขต 4 รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง ได้แก่
1. โรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ได้ขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมีโรงเรียนในสังกัด สพป. 18 โรงเรียน และสังกัด สพม. 18 โรงเรียน ซึ่งมีปัญหาอุปสรรคเรื่องความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนโครงการฯ และการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัด รวมถึงความเชื่อมั่นในการใช้ทรัพยากรร่วมกันของโรงเรียนเครือข่าย ซึ่งหากสามารถข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ได้ เชื่อมั่นว่าผู้เรียนจะมีทักษะความรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”
2. “การส่งเสริมและพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ของผู้เรียน” เนื่องจากผู้เรียนบางส่วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มีปัญหาเกี่ยวกับการออกเสียง รวมถึงสื่อ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับการส่งเสริมการอ่านไม่เพียงพอ จึงทำให้ทักษะด้านการอ่านเขียนไม่สูงมากนัก จึงอยากให้พัฒนาทักษะครู และสร้างนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาการอ่านการเขียนที่หลากหลาย ทันสมัย และใช้ได้จริง
3. “การแก้ไข ปัญหาหนี้สินครู และบุคลากรทางการศึกษาให้เห็นผลเป็นรูปธรรม” ครูและบุคลากรทางการศึกษาของจังหวัดเชียงราย ขอปรับโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย จำนวน 40 คน ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำนวน 4 คน ตามเงื่อนไขของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย ทั้งนี้ยังพบปัญหาอุปสรรคอยู่ คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย ไม่สามารถให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงรายและสถาบันทางการเงินอื่นไม่สามารถปรับลดดอกเบี้ยได้ตามที่ร้องขอ
ทั้งนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1,เขต 2 ,เขต 3, เขต 4 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย ด้วยมุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพและสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นตามบริบทของประเทศและสังคมโลก โดยเน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” และใช้หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วน ดังที่กล่าวไว้ว่า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนสำหรับต้อนรับที่ไม่มีของชำร่วย เรามาพบปะกันอย่างเรียบง่าย ประหยัด ตามข้อสั่งการของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ที่ได้บอกไว้ว่า “การลงพื้นที่ตรวจราชการต้องไม่เป็นภาระให้กับคนในพื้นที่ เราจะไม่สร้างงานที่ไม่จำเป็น แต่จะมาช่วยเหลือทุกท่าน” โดยรับรองว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้จะไม่เปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน
ที่ผ่านมาการทำงานของ ศธ. ภายใต้นโยบายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งเป็นข้อความที่ฟังง่าย เข้าใจง่าย ความสุขที่หมายถึงความสุขของทุกคนจริง ๆ ทุกระดับ ทุกมิติ โดยมุ่งหวังลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งเราได้ดำเนินการจนปรากฏขึ้นแล้วหลายเรื่อง เช่น การยกเลิกครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่เวรรักษาการณ์ในสถานศึกษา อย่างจังหวัดเชียงรายเอง ทราบมาว่าตำรวจเข้ามาช่วยดูแลโรงเรียนทั้งจังหวัด โดยมี QR Code ที่โรงเรียนควบคู่กับตู้แดง แล้วตำรวจจะเข้าไปตรวจสอบทุก 4 ชั่วโมง
“หากโรงเรียนไหนยังไม่มีตำรวจเข้าไปดูแล ก็ให้แจ้งเข้ามาที่ต้นสังกัด เราจะดำเนินการประสานงานให้ทันที ขอให้ทุกท่านสบายใจ เนื่องจากผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทุกคน โดยเฉพาะ รมว.ศธ. ได้เคยกล่าวไว้ว่า ไม่เคยเห็นข้าวของสำคัญมากกว่าชีวิตคน ซึ่งเราก็เข้าใจว่าตอนนี้ความหนักใจไปตกอยู่ที่ ผอ.โรงเรียน ที่อาจจะกลัวทรัพย์สินมีค่าของราชการสูญหาย จึงขอเรียนให้ทราบว่า หากสิ่งของสูญหายโดยท่านไม่ได้ประมาทเลินเล่อ มีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างดีที่สุดแล้ว เราก็มีเหตุผลที่มาพูดคุยกันได้ หรือหากอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ห้องต่าง ๆ ที่เก็บทรัพย์สินมีค่าไม่แข็งแรง ชำรุดเสียหาย ก็ขอให้แจ้งเข้ามาที่ สพฐ. เราจะได้หางบประมาณซ่อมแซมจัดการให้” รมช.ศธ.กล่าว
นอกจากนี้ ศธ. กำลังจะคืนตำแหน่งนักการภารโรงให้กับโรงเรียนทุกแห่ง หลังจากที่ขาดแคลนมานาน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยลดภาระครูได้ ขณะนี้กำลังทำเรื่องของงบกลางมาจ้างนักการภารโรง และจะเร่งให้ทันวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ต้อนรับเปิดเทอม ส่วนปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ดำเนินการของบประมาณไปเรียบร้อยแล้ว และจะทำทุกปีเพื่อให้ได้งบจ้างนักการภารโรงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเรื่องครูธุรการที่ยังขาดแคลนอยู่ ต้องขอบคุณเขตพื้นที่การศึกษาอย่างมากที่นำงานธุรการของโรงเรียนขนาดเล็กมาช่วยทำ แต่ทาง ศธ.เองก็จะพยายามแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ ขณะเดียวกันเรากำลังทำเรื่องของบประมาณอุดหนุนอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนขยายโอกาสระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้ลูก ๆมัธยมได้มีอาหารกลางวันกิน และโรงเรียนจะได้ไม่ต้องไปหาวิธีที่ลำบาก เสี่ยงต่อการทำผิดระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง โดยเรากำลังคุยกันว่าจะสามารถให้หน่วยงานท้องถิ่นปรุงอาหารให้เสร็จ แล้วโรงเรียนก็รับมาแจกนักเรียน ใช้รูปแบบเดียวกันกับนมโรงเรียนได้หรือไม่เพื่อไม่ให้เป็นภาระครูที่ต้องไปจ่ายตลาดและมาทำกับข้าวให้นักเรียน
รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ข้อสำคัญที่ รมว.เน้นย้ำอยู่เสมอ คือ ต่อไปนี้นโยบายทุกอย่างต้องไม่เพิ่มเนื้องานให้ครู ส่วนของเรื่องคำสั่ง กฎ ระเบียบที่ล้าสมัย ไม่เกิดประโยชน์หรือเป็นภาระมากเกินไป หากเป็นกฎในระดับกระทรวงก็ขอให้เสนอมาได้เลย ผู้บริหารพร้อมดำเนินการยกเลิกให้ ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ต้องเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ก็จะดำเนินการให้ได้ เพื่อลดภาระของท่าน อีกทั้งเรายังคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ครูมีรายได้เพิ่ม โดยได้หารือกับ ก.ค.ศ. เพื่อออกแบบการทำวิทยฐานะ ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่าย แต่ยังต้องคงคุณภาพอยู่ ตลอดจนระบบการจับคู่ครูคืนถิ่นก็ได้ดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว และที่สำคัญต่อไปนี้ต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่งเด็ดขาด ทุกคนจะต้องได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน
ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการลงพื้นที่ ครม.สัญจรครั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยจะมีการพูดคุยเรื่องดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ให้ลดอัตราดอกเบี้ยให้ รวมทั้งหารือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อปรับแก้ระเบียบอีกหลายอย่าง ที่จะทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมีวิธีแก้ปัญหาได้มากขึ้น ตลอดจนยืนยันจะหาแนวทางสร้างมาตรการไม่ให้ครูที่ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้วไปก่อหนี้ใหม่เพิ่ม ซึ่งจะนำไปพูดคุยในระดับกระทรวงต่อไป
สำหรับประเด็นโรงเรียนคุณภาพ 1 อำเภอ 1 โรงเรียน ศธ. มีแนวทางดำเนินโครงการฯ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งเราได้เสนอของบประมาณ พ.ศ.2568 ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน สพฐ. ได้กันเงินไว้ต่างหากสำหรับการดำเนินโครงการฯ อยู่แล้ว เพื่อช่วยเหลือทั้งในเรื่องของบุคลากร สถานที่ หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ตลอดจนโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าโครงการฯ และโรงเรียนขนาดเล็กก็ต้องได้รับการดูแลด้วยเช่นกัน ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาช่วย ในการลดความเหลื่อมล้ำก็คือ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime จะเป็นกลไกสำคัญในการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างด้านการศึกษา ให้เด็ก ๆ ที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ได้เรียนกับครูที่ดังเหมือนเด็กในกรุงเทพฯ
รมช.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รมว.ศธ. ได้นำผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงไปสัมมนาที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่มาเป็นวิทยากรของงานสัมมนาฯ ได้ให้ความเห็นว่า “หัวใจของการศึกษา คือ ผอ.โรงเรียน เพราะจะเป็นผู้กำหนดทิศทางให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ” โดยผลสอบต่าง ๆ ของนักเรียน ก็ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวเราทุกคน ดังนั้นเราจึงต้องความรับผิดชอบร่วมกัน เดินไปด้วยกัน และช่วยกันแก้ปัญหาการศึกษาให้ประเทศชาติอย่างสุดความสามารถ
ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ/ถ่ายภาพ
The post รมช.ศธ. ‘ครูเอ’ ลงพื้นที่ จ.เชียงราย มุ่งมั่นลดภาระครู ยืนยัน ครม.สัญจรในพื้นที่ต้องได้ประโยชน์ต่อวงการศึกษา appeared first on กระทรวงศึกษาธิการ.